กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือน 28 ก.พ.นี้ เข้าสู่ “ฤดูร้อน” อย่างเป็นทางการ

พระอาทิตย์ -ฤดูร้อน-แม่น้ำ
ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน

กรมอุตุนิยมวิทยา วันนี้ย้ำเตือนอีกรอบ รับมือ”อากาศแปรปรวน” ช่วง 23-25 ก.พ.นี้ มีทั้งอากาศเย็น กลางวันร้อน และยังมีฝนฟ้าคะนอง ขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน อาจเกิดลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ ส่วนภาคภาคใต้ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ระบุชัดช่วง 26 ก.พ. – 9 มี.ค.68 อุณหภูมิจะสูงขึ้น และจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.68 เป็นต้นไป ร้อนสุด 35-36 องศาเซลเซียส

กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดต ผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 23 ก.พ.-9 มี.ค.68 init. 2025022212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย

สำหรับสภาพอากาศยังมีความแปรปรวน เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล ลมเริ่มกลับมาเป็นลมตะวันออกพัดปกคลุม มีกำลังแรงขึ้น เช้าอากาศเย็น กลางวันอากาศร้อน ยังมีฝน/ฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

เริ่มแล้ววันนี้ (23 ก.พ.68) ถึง 25 ก.พ.68 จะมีความแปรปรวนสูงมีหลายตัวแปร ทั้งมวลอากาศเย็นที่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม อากาศที่ยังร้อนตอนกลางวัน และยังมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก (Westerly wave หรือ westerly trough )พัดปกคลุมภาคภาคเหนือ ภาคอีสาน ตอนบน

ต้องติดตามประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวัง อันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางรวมทั้ง กทม.ปริมณฑล และภาคตะวันออก

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือภาคอีสานตอนบน อาจเกิดลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ พี่น้องเกษตรกร เตรียมรับมือ และระวังรักษาสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง และมีลมแรงในภาคอีสาน ระวังอัคคีภัย

ส่วนภาคภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักและคลื่นลมแรง เนื่องจากอิทธิพลของลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมมีกำลังแรงขึ้นด้วย

ADVERTISMENT

ก่อนที่ช่วง 26 ก.พ. – 9 มี.ค.68 อุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น และจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.68 เป็นต้นไป คาดปีนี้จะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว จะมีฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ) เป็นข่าวที่ยังต้องติดตามเป็นระยะๆ)

สำหรับสภาวะอากาศที่มีผลต่อการสะสมฝุ่นละอองในระยะนี้ การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันบริเวณประเทศไทยตอนบนอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างมาก โดยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น และมีฝนเพิ่มในบางพื้นที่

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23 – 25 ก.พ. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ยังคงมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้บางพื้นที่เกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 – 2 องศาเซลเซียส

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณทีมีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลอันดามันคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 26 ก.พ. 1 มี.ค. ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

พยากรณ์ฝนสะสม 25 ก.พ. 2568
พยากรณ์ฝนสะสม 25 ก.พ. 2568

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรตลอดช่วง

ส่วนในช่วงวันที่ 23 – 25 ก.พ. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมทั้งฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง

ส่วนประชาชนในภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

สำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหว(ช่วงวันที่ 22 – 23 ก.พ. 68): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 3.9 และ 5.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

คาดหมายสภาวะอากาศ กทม. และปริมณฑล 23 ก.พ.-1 มี.ค.2568
คาดหมายสภาวะอากาศ กทม. และปริมณฑล 23 ก.พ.-1 มี.ค.2568