นายกฯ กล่าวปิดงาน Global Soft Power Talks ชวนต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดงานเสวนา Global Soft Power Talks: The New Rules of Soft Power ลั่น “ตอนนี้คือเวลาของประเทศไทย” พร้อมชวนต่างชาติลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

เมื่อเวลา 16.45 น. ณ สตูดิโอ 4 อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดงานเสวนา “Global Soft Power Talks: The New Rules of Soft Power” โดยมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟัง

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มากล่าวปิดงานเสวนา Global Soft Power Talk วันนี้ ซึ่งเป็นเวทีที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของไทยในการสร้างอิทธิพลใหม่ระดับโลก ผ่านความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และนวัตกรรม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประเพณี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก ศิลปะ อาหาร การต้อนรับขับสู้ และวิถีชีวิตทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ปัจจุบัน ไทยยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญ และแม้ประเพณีจะหล่อหลอมตัวตนของไทย แต่ก็ไม่ควรจำกัดอนาคต ประเพณีจะต้องเป็นรากฐานสำหรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอดีตอันรุ่งโรจน์ และเป็นอนาคตอันไร้ขีดจำกัด

ในอดีต ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทยสร้างขึ้นจากการผลิต (manufacturing) เกษตรกรรม และการผลิตจำนวนมาก (mass production) อุตสาหกรรมเหล่านี้ขับเคลื่อนการเติบโตมาหลายทศวรรษ แต่ในโลกปัจจุบันไม่เพียงพออีกต่อไป อนาคตจะเป็นของประเทศที่ลงทุนด้านความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และศักยภาพของมนุษย์

ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่อิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองอีกต่อไป แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย ประเทศต่าง ๆ ที่สามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์ได้สำเร็จนั้นไม่เพียงเพิ่มการมีอยู่ในระดับโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างงาน ดึงดูดการลงทุน และขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจด้วย และ “นี่เองคือสิ่งที่ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะทำ”

ADVERTISMENT

เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และมี 13 อุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนความคิดริเริ่มนี้ ได้แก่ ท่องเที่ยว อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น เทศกาล กีฬา ดนตรี ศิลปะ ออกแบบ เกม วรรณกรรม เวลเนส และศิลปะการแสดง เพื่อเพิ่มความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องมีระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง ที่สร้างขึ้นจากบุคลากรที่มีทักษะ และสามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้

ADVERTISMENT

ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่ศักยภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลด้วยเครื่องมือ ทักษะ และความรู้ เพื่อเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้เปิดตัวนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power (OFOS)) โครงการระดับชาติที่มุ่งพัฒนาและยกระดับทักษะใหม่ ๆ (upskilling and reskilling) ให้กับคนไทยมากกว่า 20 ล้านคนภายในปี 2570 โดยเปิดสอนหลักสูตรฟรีเกือบ 100 หลักสูตร ไม่ว่าจะด้านการบริการ (hospitality) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สื่อดิจิทัล การออกแบบ เวลเนส และอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรจะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง และกระบวนการที่ยั่งยืน ประเทศไทย ในฐานะครัวของโลก อาหารไทยได้รับการยกย่องทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในเรื่องรสชาติ แต่ยังรวมถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ ความสมดุล และความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ไทยต้องเป็นมากกว่าผู้ส่งออกอาหาร ไทยจะต้องยกระดับอาหารไทยให้เป็นแบรนด์ระดับโลกในด้านการทำอาหาร (gastronomy) ความยั่งยืน และสุขภาพ (wellness)

อาหารไทยไม่เพียงแต่มีรสชาติอร่อยเท่านั้น แต่ยังดีต่อสุขภาพด้วย อาหารไทยไม่ใช่แค่เพียงมื้ออาหาร แต่เป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และด้วยเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ห่วงโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนด้วย AI และความโปร่งใสของบล็อคเชนของไทย จึงมั่นใจได้ว่า อาหารไทยจะได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ และนวัตกรรมในระดับโลก

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำระดับโลกด้านการดูแลสุขภาพและบริการเพื่อสุขภาพแบบองค์รวมที่ราคาไม่แพงและมีคุณภาพสูง ตั้งแต่การนวดแผนไทยไปจนถึงนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ ไทยได้วางตำแหน่งประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพระดับโลก ทั้งให้การรักษา และมอบประสบการณ์การดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น “โลก คือ ตลาดของไทย และประเทศไทยพร้อมที่จะแสดงความแข็งแกร่งและการเติบโตของเรา”

โดยที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และศิลปะการแสดงของไทยก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดึงดูดผู้ผลิตระดับนานาชาติและผู้ชมทั่วโลก อุตสาหกรรมเกมก็กำลังพัฒนา สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับนักพัฒนาและนักออกแบบชาวไทย อุตสาหกรรมเพลงและบันเทิงของไทยก็พร้อมดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก

และเพื่อให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องทำมากกว่าแค่การสร้างสรรค์ ไทยต้องการตลาด การส่งเสริม และสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นสากล

จึงเป็นเหตุผลที่สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Thailand Creative Culture Agency: THACCA) มีบทบาทสำคัญ เป็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ระดับใหม่ THACCA จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และนักลงทุนระดับโลก เพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีทรัพยากร ได้รับการมองเห็น และการสนับสนุนเพื่อการเติบโต

ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว แต่ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ ผู้สร้างสรรค์ และนักลงทุนและสำหรับพันธมิตรระหว่างประเทศของไทย ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ จึงขอเชิญชวนให้ เข้ามาร่วมกับเราในการกำหนดอนาคตของซอฟต์พาวเวอร์ เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย และซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยให้มากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น แต่ให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนและคุ้มค่าร่วมกันในอนาคตซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่มีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งที่ไทยสามารถเป็นได้

ไทยเป็นประเทศที่มีประเพณีและการปฏิรูป (transformation) มรดกและความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและธุรกิจ “ตอนนี้คือเวลาของเรา (Our time is now)” นายกรัฐมนตรีกล่าว