
เปิดสถานการณ์ “ไข้หวัดใหญ่” พบผู้ป่วยแล้ว 1.3 แสนราย เสียชีวิตสะสม 12 ราย พบมากสุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ขวบ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านเชื้อโอเซลทามิเวียร์ ย้ำวัคซีนที่ใช้ สามารถป้องกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 131,826 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ขวบ รองลงมา กลุ่มอายุ 0-4 ขวบ และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคเหนือ (258.44) รองลงมา คือ ภาคกลาง (222.48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (175.88) และภาคใต้ (138.85)
นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 10 จังหวัดแรก ได้แก่
- พะเยา (638.55)
- ลำพูน (591.61)
- เชียงราย (469.88)
- ภูเก็ต (456.36)
- เชียงใหม่ (443.04)
- ลำปาง (374.70)
- น่าน (341.83)
- กรุงเทพมหานคร (331.85)
- อุบลราชธานี (301.93)
- นนทบุรี (290.59)
โดยแนวโน้มผู้ป่วยรายสัปดาห์ในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2567) ในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 1.6 เท่า และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี โดยปี 2567 พบผู้ติดเชื้อทั้งปีรวม 668,027 ราย เสียชีวิต 51 ราย สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ AH1N1 (2009)
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหากป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน มีอาการรุนแรง และนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้เป็นโรคอ้วน หญิงมีครรภ์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
และควรดูแลสุขภาพ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ หรือหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน 3-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
“ส่วนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดอาการรุนแรงจากโรค เน้นในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.เด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ 2.ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 3.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 4.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 6.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน 7.หญิงตั้งครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.ภาณุมาศกล่าว
วันเดียวกัน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตรวจจำแนกสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมในปัจจุบันจากทั่วโลก พบว่า ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 พบสัดส่วนร้อยละ 54.63 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 ร้อยละ 13.3 และ clade 6B.1A.5a.2a ร้อยละ 86.7
ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบสัดส่วนร้อยละ 24.01 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 สัดส่วนร้อยละ 99.38 clade 3C.2a1b.2a.2a.3b ร้อยละ 0.41 และ clade 3C.2 ร้อยละ 0.21 ไข้หวัดใหญ่ชนิด B กลุ่ม Victoria สัดส่วนร้อยละ 21.27 โดย 100% เป็นสายพันธุ์ B/Victoria จัดอยู่ใน clade VIA.3a.2 ร้อยละ 99.77 และ clade VIA.3 ร้อยละ 0.23
สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 (pdm09) มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39.46 รองลงมา คือ ไข้หวัดใหญ่ชนิด B(Victoria) และไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ร้อยละ 34.86 และร้อยละ 25.68 ตามลำดับ
และจากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Whole Genome Sequencing วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม พบว่า ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 พบการกระจายของ clade 6B.1A.5a.2a มากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 86.75 ในขณะที่ clade 6B.1A.5a.2a.1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 13.25
สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบเป็น clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 สัดส่วนร้อยละ 100 ไข้หวัดใหญ่ชนิด B พบเป็นสายพันธุ์ B Victoria สัดส่วนร้อยละ 100
นพ.ยงยศกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประกาศสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับซีกโลกใต้ ปี 2025
ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 คือ A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus (6B.1A.5a.2a.1) ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) คือ A/Croatia/10136RV/2023-like virus (3C.2a1b.2a.2a.3a.1) ไข้หวัดใหญ่ชนิด B คือ B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus)
จากการประเมินความสอดคล้องสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศไทยกับสายพันธุ์วัคซีน ปี 2025 พบ
ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 (ร้อยละ 13.25) สอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีน ปี 2025 “A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus (6B.1A.5a.2a.1)”
โดยสายพันธุ์ส่วนใหญ่ 6B.1A.5a.2a (ร้อยละ 86.75) อาจมีความแตกต่างทางพันธุกรรมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสายพันธุ์วัคซีนที่กำหนด ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) และไข้หวัดใหญ่ชนิด B พบเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 และ Victoria lineage ตามลำดับ เมื่อประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปี 2025 พบสอดคล้องตรงกัน
“เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่แยกได้จากตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปอดอักเสบ ที่ส่งมายังห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์ฯ ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 พบยีนบ่งชี้ต่อการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 ร้อยละ 1.9 ส่วนเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิด A(H3N2) และไข้หวัดใหญ่ชนิด B ยังไม่พบยีนบ่งชี้ต่อการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นหลัก ดังนั้นการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาจึงจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ในการจัดทำคำแนะนำการเลือกใช้ยาให้เกิดประสิทธิผล ตลอดจนการวางแผนสำรองยาต้านไวรัสที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังคงร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
และขอเน้นย้ำว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยยังสามารถป้องกันสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการดูแลป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากสงสัยว่ามีอาการป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง” นพ.ยงยศกล่าว
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4.5 ล้านโดส ลอตแรก เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนว่า สปสช.มีกลไกในการส่งเสริมป้องกันโรคให้กับคนไทย
โดยกรณีโรคไข้หวัดใหญ่นั้น สปสช.ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในทุกปี เฉลี่ยปีละ 4.5 ล้านโดส สำหรับปี 2568 สปสช.มีสต๊อกวัคซีนอยู่ 1.4 แสนโดส ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ เป็นวัคซีนที่เตรียมไว้รองรับเหตุระบาด และเป็นการฉีดให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตลอดทั้งปี
นพ.จเด็จกล่าวว่า สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลอตปี 2568 สปสช.สั่งซื้อเรียบร้อยแล้ว เป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ รวมทั้งสิ้น 4.57 ล้านโดส โดยมีกำหนดการส่ง 3 ลอต ในเดือนเมษายน 1.5 ล้านโดส, เดือนพฤษภาคม 2 ล้านโดส และเดือนมิถุนายน 2 ล้านโดสเศษ
ซึ่งเมื่อวัคซีนเข้ามาถึงก็จะตรงกับช่วงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี)
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบทุกคน (หมายถึง กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็มจนถึงอายุ 2 ขวบ 11 เดือน 29 วัน)
- ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป
- โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีอาการ
- โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
นอกจากนี้ เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงความกังวลหากเกิดการระบาดว่า ในกลไกการจัดหาวัคซีนหลัก ๆ มี 3 ทาง ได้แก่ 1.จัดหาโดย สปสช. ที่จะนำเข้ามาปีละประมาณ 4.5 ล้านโดส 2.กรมควบคุมโรค สธ. เพื่อใช้ในการควบคุมกรณีมีการระบาด และ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สามารถจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
ฉะนั้น หากเกิดการระบาดขึ้น ก็จะมีวัคซีนในส่วนนี้เข้าไปควบคุมพื้นที่ระบาด อย่างไรก็ตาม สปสช.ตระหนักถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ขณะนี้กำลังหารือร่วมกับกรมควบคุมโรคว่า จะต้องเร่งนำเข้าวัคซีนให้เร็วขึ้นหรือไม่
“นอกจากนั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม อย่างที่ผ่านมา มีการพิจารณาให้ฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังเพื่อลดการระบาดในเรือนจำ ซึ่งตอนนี้กรมควบคุมโรคได้เสนอว่า อาจจะขยายอายุการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็ก จาก 6 เดือนถึง 2 ขวบ ขยายให้ถึง 5 ขวบ เป็นต้น” นพ.จเด็จกล่าว