ไทม์ไลน์ปัญหาชาวอุยกูร์ กว่าทศวรรษพลัดถิ่น ไร้ที่ยืนในไทย-ส่งกลับไปจีน

ทำความรู้จัก ‘ชาวอุยกูร์’ คือใคร พร้อมย้อนไทม์ไลน์จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน จากกรณีทางการจีนขอให้รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ 45 คนที่ถูกกักอยู่ในประเทศไทยมากว่า 10 ปีกลับไปยังประเทศจีน

ชาวอุยกูร์เป็นชนกลุ่มน้อยที่ก่อตั้งอาณาจักรคานาเตะอุยกูร์ในศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นอาณาจักรริมแม่น้ำออร์ฮอนในพื้นที่ตอนกลางค่อนเหนือของมองโกเลียในปัจจุบัน อาณาจักรนี้ได้ล่มสลายไปหลังจากที่ถูกชาวคีร์กีซโจมตีเมืองหลวงเมื่อปี ค.ศ. 840 หลังจากนั้นชาวอุยกูร์ก็ได้อพยพไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่พื้นที่รอบ ๆ เทียนซานเขตปกครองซินเจียง

ชาวอุยกูร์เริ่มต้นก่อตั้งอาณาจักรอีกครั้งในเขตลุ่มแม่น้ำตูร์ฟาน ซึ่งถูกโค่นล้มโดยพวกมองโกลในศตวรรษที่ 13 ทำให้นักวิชาการหลายคนมองว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของชาวอุยกูร์สมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มชาวอุยกูร์เดินทางมาถึงซินเจียงระหว่างศตวรรษที่ 9-13

ส่วนใหญ่อาศัยอยู่หลายเมือง อาทิ อุรุมชี เมืองหลวงของซินเจียง และกาชการ์ (กาชี) ในพื้นที่หมู่บ้าน บนหุบเขา และเชิงเขาที่ต่ำลงของเทือกเขาเทียนซาน ปามีร์ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พวกเขาจึงใช้ระบบชลประทานเพื่ออนุรักษ์น้ำ สำหรับการเกษตรมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ 

พืชผลทางการเกษตรหลักของพวกเขา คือ ข้าวสาลี ข้าวโพด เกาเหลียง (ข้าวฟ่างชนิดหนึ่ง) และแตงโม พืชผลทางอุตสาหกรรมหลัก คือ ฝ้าย ซึ่งปลูกในพื้นที่นี้มาเป็นเวลานาน ชาวอุยกูร์จำนวนมากทำงานด้านการสกัดปิโตรเลียม การทำเหมือง และการผลิตในศูนย์กลางเมือง

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

ความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ชาวฮั่นจำนวนมากอพยพเข้ามาในซินเจียง และมีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากปี 1990 และในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ชาวฮั่นมีสัดส่วนถึง 2 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดในซินเจียง เมื่อเวลาผ่านไป ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติพันธุ์ก็เพิ่มมากขึ้น

ADVERTISMENT

ส่งผลให้เกิดการประท้วงและความวุ่นวาย และความรุนแรงก็เกิดขึ้นในเดือนกรกฏาคม 2009 ที่เมืองอุรุมชี มีรายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 200 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1,700 คน หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็รุนแรงขึ้นจากการโจมตีของผู้ก่อเหตุที่พกมีดและระเบิดเพื่อฆ่าตัวตาย ทางการจีนปราบปรามชาวอุยกูร์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เห็นต่างและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การยิง การจับกุม และโทษจำคุกเป็นเวลานานสำหรับผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิด

ปี 2017 รัฐบาลจีนเริ่มดำเนินปราบปรามชาวอุยกูร์ในซินเจียงอย่างเข้มข้น โดยอ้างถึงความจำเป็นในการรักษาความปลอดภัย โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งกล้องวงจรปิด จุดตรวจ และตำรวจลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ 

ADVERTISMENT

นอกจากนั้นยังมีการกักขังชาวอุยกูร์มากถึง 1 ล้านคนโดยไม่มีกำหนดเวลาในอาคารที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนา โดยระบุว่า เป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพ ที่ช่วยพัฒนาทักษะการทำงาน ซึ่งเปรียบได้กับค่ายอบรมสั่งสอนในสมัยเหมาเจ๋อตุง การกระทำนี้ได้รับการตอบโต้จากการประท้วงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง สหประชาชาติ (OHCHR) เรียกร้องให้จีนยุติการกักขังดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลปฏิเสธว่า ไม่มีค่ายดังกล่าว 

นานาชาติสั่งสอบสวน-คว่ำบาตรสินค้า

บทความจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) มีหลักฐานว่า แรงงานชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกส่งไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม หลายบริษัทข้ามชาติถูกตั้งคำถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฝ้ายและสิ่งทอ เนื่องจากซินเจียงเป็นแหล่งผลิตฝ้ายรายใหญ่ของโลก

มีหลักฐานมากมายจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่า ชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกส่งไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ทำให้บริษัทต่างชาติต่างถูกตั้งคำถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เวลาต่อมาสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอุยกูร์ และการปราบปรามชาวอุยกูร์ของจีนก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ต่อมาในปี 2021 เหล่าประเทศในยุโรปและองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสอบสวนและคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน จากประกาศให้การกระทำของจีนในซินเจียงเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ทั้งหมด โดยยืนยันว่าค่ายกักกันเป็นเพียง “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ที่ช่วยให้ชาวอุยกูร์มีงานทำและป้องกันการก่อการร้าย จีนยังได้พยายามควบคุมการสื่อสารเกี่ยวกับซินเจียงในระดับนานาชาติ เช่น การกดดันบริษัทต่างชาติที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของตน และการใช้สื่อของรัฐเผยแพร่ข้อมูลเพื่อแก้ต่างให้กับรัฐบาล

ต่อมาในปี 2022 สหประชาชาติย้ำจุดยืนของตนในรายงานที่ระบุว่า การกักขังชาวอุยกูร์ของจีนและการกระทำอื่น ๆ ต่อกลุ่มมุสลิมส่วนใหญ่ในซินเจียงอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งจีนก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ผ่านอกสาร 131 หน้าที่คณะผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ

จีนขอส่ง 45 ชาวอุยกูร์กลับบ้าน

จากคำอธิบายของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า รัฐบาลจีนได้มีคำขออย่างเป็นทางการโดยหนังสือทางการทูต ขอให้รัฐบาลไทยส่งคนจีนเชื้อสายอุยกูร์ จำนวน 45 คน ที่กระทำความผิดโดยได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฏหมาย จึงถูกจับกุม และกักกันอยู่ในประเทศไทยมากว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่มีข้อหาอื่นใด

รัฐบาลจีนระบุว่า บุคคลเหล่านี้มีความผิดเล็กน้อย เป็นเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย และไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอื่นใด

ดังนั้นเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศจีน จะได้รับอนุญาตให้กลับคืนสู่ครอบครัวได้โดยตรง และกลับคืนสู่การดำรงชีวิตโดยปกติ และให้การรับรองอย่างเป็นทางการ และหนักแน่นว่าจะให้ความปลอดแก่บุคคลเหล่านี้อย่างเต็มที่ และรัฐบาลจีนพร้อมให้ไทยร่วมสังเกตการณ์เพื่อยืนยันว่า ชาวอุยกูร์กลับคืนสู่ครอบครัวด้วยความปลอดภัย และเพื่อแสดงให้เห็นว่า จีนให้ความเคารพต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตามต่างชาติและนักการเมือง รวมถึงคนไทยเองไม่ได้มองว่า การกระทำนี้ของรัฐบาลไทยเหมาะสม ทำให้มีหน่วยงาน รวมถึงบุคคลสำคัญออกมาพูดเรื่องนี้กันอย่างมาก

สถานทูตสหรัฐ-UNHCR ประณามไทย

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ มาร์โค รูบิโอ แถลงการณ์กรณีไทยผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ระบุว่า “เราขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อกรณีที่ไทยผลักดันชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับประเทศจีน ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในประเทศที่ตนไม่มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ชาวอุยกูร์เคยถูกข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมาน ในฐานะพันธมิตรอันยาวนานของไทย

เรารู้สึกตระหนกกับการกระทำนี้ ซึ่งอาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ

นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานของชาวไทยในการปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เราเรียกร้องรัฐบาลของทุกประเทศที่ชาวอุยกูร์เข้าไปอาศัยความคุ้มครอง ให้ไม่ผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์กลับประเทศจีน

จีน ภายใต้การกำหนดทิศทางและการควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยส่วนใหญ่มุ่งไปที่ชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นมุสลิม ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนากลุ่มอื่นในซินเจียง

เราขอให้ทางการจีนเปิดให้มีการตรวจสอบโดยถี่ถ้วนและสม่ำเสมอ เพื่อยืนยันถึงสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับ รัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้ทางการจีนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ รวมทั้งต้องพิสูจน์การดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง”

เช่นเดียวกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์ จำนวน 40 คน หลังจากอยู่ในศูนย์กักกันในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 10 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานได้ขอสิทธิการเข้าถึงคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด และได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ได้แสดงความหวาดกลัวต่อการส่งกลับ จะไม่ถูกเนรเทศออกจากประเทศ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ไม่เคยได้รับอนุมัติ และเมื่อติดต่อเพื่อขอคำชี้แจง ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยแจ้งว่าไม่มีการตัดสินใจต่อการเนรเทศคนกลุ่มนี้

“นี่เป็นการละเมิดหลักการห้ามส่งกลับ และภาระผูกพันของรัฐบาลไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” รูเวนดรินี่ เมนิคดิเวล่า ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติด้านการให้ความคุ้มครอง กล่าว

ล่าสุดนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.10 น. กรณีที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทยกรณีส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ว่า รัฐบาลได้ตรวจสอบแล้วว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เราไม่ได้ทำผิดกฎสหประชาชาติและไม่ได้ทำผิดกฎมนุษยชนแต่อย่างใด

และได้รับการยืนยันจากทางการจีนว่า ถ้าเราส่งชาวอุยกูร์กลับไป เขาจะไม่ถูกดำเนินคดีแล้ว ไม่ต้องมีการสอบสวน สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลกับรัฐบาลคุยกันมาสักระยะแล้ว เมื่อมีการจัดการที่ดีของทั้งสองประเทศก็จะสามารถทำให้ชีวิตของชาวอุยกูร์เหล่านั้นปลอดภัยได้

สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอาจจะมีการจัดการที่ผิดพลาด แต่จากการคุยกันครั้งนี้ และจากที่ตนไปเยือนอย่างจีนเป็นทางการได้พูดคุยกับผู้นำหลายระดับ ซึ่งเขายืนยันว่าเขาให้คำมั่นสัญญากับทางไทยแล้วว่าทุกคนที่กลับไปจะปลอดภัย ไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่ทำการส่งตัไปแน่นอน หากไม่ได้รับการยืนยันอย่างนี้

ข้อมูลจาก สถานทูตสหรัฐและสถานกงสุลในประเทศไทย, cfr , hrw และ britannica