
ภายหลังที่มีรายงานว่าชาวอุยกูร์ประมาณ 40 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557 ได้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นั้น ล่าสุดมีหลายองค์กร-นักสิทธิมนุษย์ชน ได้แสดงท่าทีกับกรณีดังกล่าว โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมส่วนหนึ่งไว้ ดังนี้
UNHCR ชี้ละเมิดหลักการห้ามส่งกลับ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์จำนวน 40 คน หลังจากอยู่ในศูนย์กักกันในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 10 ปี
โดยระบุว่า UNHCR ได้รับรายงานจากหลายช่องทางว่ากลุ่มชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันตัวในกรุงเทพฯ ได้ถูกบังคับส่งกลับอย่างรวดเร็ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานได้ขอสิทธิการเข้าถึงคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด และได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ได้แสดงความหวาดกลัวต่อการส่งกลับ จะไม่ถูกเนรเทศออกจากประเทศ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ไม่เคยได้รับอนุมัติ และเมื่อติดต่อเพื่อขอคำชี้แจง ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยแจ้งว่าไม่มีการตัดสินใจต่อการเนรเทศคนกลุ่มนี้
“นี่เป็นการละเมิดหลักการห้ามส่งกลับ และภาระผูกพันของรัฐบาลไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” รูเวนดรินี่ เมนิคดิเวล่า ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติด้านการให้ความคุ้มครองกล่าว
สิทธิขั้นพื้นฐานในการขอลี้ภัย และการไม่ถูกบังคับให้ส่งกลับ (เช่น ไม่ส่งผู้คนกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาอาจเผชิญกับความเสี่ยง) ได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 13 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของประเทศไทย มาตรา 16 ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 14 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
UNHCR ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกักขังคนกลุ่มนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เร่งให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของชาวอุยกูร์ มอบทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การกักกัน และหาทางออกที่ปลอดภัย และเป็นไปได้
สหรัฐหวั่นขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ
นายมาร์โก รูบิโอ รมว.การต่างประเทศสหรัฐโพสต์บนเว็บไซต์ X ว่า ประเทศไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์กลุ่มหนึ่งไปจีน ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของไทย เราสู้สึกวิตกกังวลกับการกระทำนี้ ซึ่งเสี่ยงขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ สหรัฐประณามการกระทำนี้ เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบและรับรองว่าชาวอุยกูร์ได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและสิทธิของพวกเขาได้รับการคุ้มครอง
สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเผยแพร่แถลงการณ์ กรณีไทยผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน โดยมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2025
แถลงการณ์ระบุว่า เราขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อกรณีที่ไทยผลักดันชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับประเทศจีน ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในประเทศที่ตนไม่มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ชาวอุยกูร์เคยถูกข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมาน
ในฐานะพันธมิตรอันยาวนานของไทย เรารู้สึกตระหนกกับการกระทำนี้ ซึ่งอาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานของชาวไทยในการปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เราเรียกร้องรัฐบาลของทุกประเทศที่ชาวอุยกูร์เข้าไปอาศัยความคุ้มครอง ให้ไม่ผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์กลับประเทศจีน
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า จีนภายใต้การกำหนดทิศทางและการควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยส่วนใหญ่มุ่งไปที่ชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นมุสลิม ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนากลุ่มอื่นในซินเจียง เราขอให้ทางการจีนเปิดให้มีการตรวจสอบโดยถี่ถ้วนและสม่ำเสมอ เพื่อยืนยันถึงสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับ รัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้ทางการจีนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ รวมทั้งต้องพิสูจน์การดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง สหรัฐประณามไทยขั้นสุด
‘แอมเนสตี้’ แถลงผิดหวัง-เรียกร้องเปิดเผยที่อยู่
ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศจีน เผยว่า การบังคับส่งตัวบุคคลเหล่านี้กลับไปยังจีน หรือชาวอุยกูร์คนใดก็ตาม เสี่ยงทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชี้แจงสถานะของพวกเขาโดยทันที
“พวกเขาต้องเผชิญกับความเลวร้ายอย่างน่าหวาดหวั่น พวกเขาหนีจากการปราบปรามในจีน แต่มาถูกควบคุมตัวโดยพลการในประเทศไทยนานกว่าทศวรรษ ความจริงที่ว่าตอนนี้พวกเขาอาจถูกบังคับส่งตัวกลับไปยังประเทศที่ชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวฮั่นในซินเจียงต้องเผชิญกับการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย การควบคุมตัวโดยพลการ และการบังคับให้สูญหาย เป็นสิ่งที่โหดร้ายเกินจะจินตนาการ”
ซาราห์กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยควรให้ความคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ แต่กลับเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่พวกเขาเผชิญ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเลย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (Non-refoulement principle) ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับนานาชาติและภายในประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเปิดเผยที่อยู่ของบุคคลเหล่านี้ และหากพวกเขายังคงถูกควบคุมตัวอยู่ รัฐบาลจะต้องรับรองว่าสิทธิของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ รวมถึงสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม
พวกเขาเหล่านี้หลายคนมีสุขภาพที่ย่ำแย่จากการถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายปี ควรต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสมและเพียงพอ เราขอเรียกร้องให้ยุติความทุกข์ทรมานของพวกเขา และให้ทางการรับรองสิทธิในการเดินทางอย่างเสรีของพวกเขา ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาควรได้รับโอกาสให้กลับไปพบกับครอบครัวอย่างปลอดภัย” ซาราห์กล่าว