
กรมอุตุฯ ประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว คาดสิ้นสุดฤดู กลางเดือนพฤษภาคมนี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยอุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนสูงขึ้นและมีอากาศร้อน ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุม ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าต่อไปอีกระยะหนึ่ง และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูร้อน ปี 2568 ระบุว่า ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวเป็นระยะ ๆ สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ และจะมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในบางวัน ส่วนมากช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน
โดยอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-36 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2567 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37.5 องศาเซลเชียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10-20
อนึ่ง ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว
ลักษณะอากาศทั่วไป
บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นและกลางเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแห่งแผ่ลงมาคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะ ๆ แต่จะมีกำลังอ่อน
ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 42-43 องศาเซลเชียส และจะมีพายุถูดร้อนเกิดขึ้นได้เป็นระยะ ๆ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง
ส่วนในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะ ๆ กับมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ภาคใต้ ช่วงเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร จากนั้นถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หัดปกครุมทะเลอันดามันและภาคใต้
ข้อควรระวัง
อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ ลักษณะอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย ประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วย
อากาศร้อนจัด ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก จึงขอให้ประชาชนควรหลึกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ และหมั่นตรวจสอบดูแลคนในครอบครัวให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
นอกจากนี้ ยังเตือนบริเวณจังหวัดที่มีโอกาสเกิดอากาศร้อนจัดในบางช่วง โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน 2568 โดยมีโอกาสที่อุณหภูมิสูงสุด 42-43.9 องศาเซลเซียส
