ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุด เตือน “พายุฤดูร้อน” ถล่ม กทม.โดนด้วย

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุด เตือนรับมือ “พายุฤดูร้อน” ฉบับที่ 1 พัดถล่ม ช่วง 6-8 มีนาคมนี้ เหตุมีมวลอากาศเย็นปะทะอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่งผลหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 (44/2568) มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม 2568

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ในช่วงวันที่ 6-8 มี.ค 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง

ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ADVERTISMENT

 

ADVERTISMENT

กรมอุตุฯยังอัพเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 4-18 มี.ค. 68 init. 2025030312 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลอง เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย (แม้เฉดสีที่ให้ปริมาณฝนเล็กน้อย แต่ฝนที่เกิดขึ้นช่วงนี้จะมีลักษณะเป็นพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง ต้องเฝ้าระวังและหมั่นสังเกต) :

ช่วงวันที่ 4-5 มี.ค. 68 เมฆฝนมีน้อย แสงแดดส่องตรงลงมาได้ดี อุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น กลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 35-39 ซ. บางพื้นที่อาจสูงมากกว่า 40 ซ. ออกนอกบ้านต้องพกร่มกันแดด ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งนาน ๆ ต้องระวัง อาจมีอาการโรคลมแดด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง บริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล เนื่องจากยังมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ส่วนมากช่วงบ่ายถึงค่ำ ทิศทางลมมีความแปรปรวน ส่วนภาคเหนือมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ พัดจากทางด้านประเทศเมียนมา เข้ามาปกคลุมทางด้านตะวันตกของไทย สำหรับภาคใต้ ฝนลดลง ยังมีฝนบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังอ่อนลง แต่ยังต้องระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทย

พายฤดูร้อนพัดถล่ม

ช่วงวันที่ 6-8 มี.ค. 68 ลมเปลี่ยนทิศทางเนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง แผ่ลงมาปกคลุมทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน ลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีพายุฤดูร้อน

โดยมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บ เกิดขึ้นในระยะแรกบริเวณที่เสี่ยงปานกลางถึงมาก ได้แก่ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล ต้องระวังพายุฤดูร้อน

ส่วนเกษตรกรต้องเฝ้าระวังผลผลิตทางการเกษตร ต้องเร่งเสริมความแข็งแรงให้กับไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิต อาจส่งผลกระทบเกิดความเสียหายได้โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออก

พายุฤดูร้อน

ส่วนช่วงวันที่ 9-18 มี.ค. 68 ยังมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางแห่งบริเวณประเทศไทยตอนบน เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิกแผ่ปกคลุม ทำให้มีลมตะวันออกยังพัดปกคลุมประเทศไทย มีกำลังปานกลาง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น เป็นฝนฟ้าคะนองเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอากาศจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว จะมีฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน ต้องระวังพายุฤดูร้อน มาเร็ว แรง อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

พยากรณ์ฝนสะสม วันที่ 7 มีนาคม 2568
พยากรณ์ฝนสะสม วันที่ 7 มีนาคม 2568

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ) เป็นข่าวที่ยังต้องติดตามเป็นระยะ ๆ)