Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
ในการทำธุรกิจ บางครั้งเราหรือคนทำงานด้วยกัน มีความลับทางธุรกิจ ความลับทางการค้า ที่ไม่สามารถจะเปิดเผยได้ เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันความลับ คือ สัญญารักษาความลับ หรือ NDA ซึ่งใช้เพื่อการรักษาความลับเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลลับต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งการค้า และการตลาด
Prachachat BITE SIZE ชวนทำความรู้จักสัญญา NDA คืออะไร และมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจอย่างไร
รู้จัก สัญญา NDA
สัญญา NDA หรือสัญญารักษาความลับ (Nondisclosure Agreement หรือ NDA) บางแห่งใช้คำว่า Confidentiality Agreement (CDA) คือ เอกสารทางกฎหมายระหว่างคู่สัญญาตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปที่กำหนดข้อตกลงให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไว้เป็นความลับ
ข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต หากข้อมูลถูกเปิดเผยออกไปอาจทำให้คู่สัญญาเจ้าของข้อมูลความลับนั้นได้รับความเสียหาย หรือเสียเปรียบทางธุรกิจได้
สัญญา NDA มีแบบไหนบ้าง ?
สัญญา NDA จะมีอยู่ 2 รูปแบบ การแบ่งประเภทสัญญา ทั้งลักษณะผู้ทำสัญญา และระยะเวลาของการทำสัญญา
สัญญา NDA ตามลักษณะของผู้ทำสัญญา จะมี 3 แบบ
1.สัญญา NDA แบบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ข้อตกลงที่มีเพียงฝ่ายเดียวที่ต้องเปิดเผยหรือแบ่งปันข้อมูลความลับกับอีกฝ่าย เช่น พนักงานได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล Username และ Password ของบริษัทและมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูล
กรณีนี้ สัญญาเก็บรักษาความลับจะมีคู่สัญญาผู้มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาความลับเพียงฝ่ายเดียว
2.สัญญา NDA แบบทั้งสองฝ่าย
คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเปิดเผยหรือแบ่งปันข้อมูลความลับให้แก่กัน และทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูลของอีกฝ่าย โดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีสถานะเป็นทั้งผู้เปิดเผยข้อมูลและผู้รับข้อมูลในเวลาเดียวกัน
3.สัญญา NDA แบบหลายฝ่าย (พหุภาคี)
ข้อตกลงรักษาความลับที่ครอบคลุมตั้งแต่สามฝ่ายขึ้นไปที่เปิดเผยข้อมูลร่วมกัน โดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่ายอาจเปิดเผยข้อมูล และฝ่ายที่ได้รับข้อมูลทั้งหมดมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูลดังกล่าว
สัญญา NDA ตามระยะเวลา มี 2 รูปแบบ
1.สัญญา NDA แบบมีวันสิ้นสุด
มีวันหมดอายุ เมื่อระยะเวลาที่ตกลงกันสิ้นสุดลงแล้ว ฝ่ายเปิดเผยข้อมูลจะปลดฝ่ายรักษาข้อมูลออกจากข้อตกลง โดยอาจกำหนดวันที่สิ้นสุดไว้หรือให้สิ้นสุดเมื่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจจบลง
2.สัญญา NDA แบบไม่มีวันสิ้นสุด
ไม่มีวันหมดอายุ ฝ่ายรักษาข้อมูลจะต้องเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับไปตลอด หรือจนกว่าข้อมูลจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ
สัญญา NDA ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม ในสัญญารักษาความลับควรมีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ วันและสถานที่ทำสัญญา, ตัวตนของ “ผู้ให้ข้อมูล” และ “ผู้รับข้อมูล”, จุดประสงค์ของการทำสัญญา, ความหมายของข้อมูลที่เป็นความลับ, ขอบเขตการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความลับ, ระยะยะเวลาที่มีผลบังคับใช้ และเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น การเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีผู้รับข้อมูลทำผิดเงื่อนไขในสัญญา
นอกจากสิ่งที่ต้องมีในสัญญา NDA แล้ว สิ่งที่ต้องระวังเวลาทำสัญญารักษาความลับ และต้องระวังอย่าให้ผิด
เพราะอาจทำให้สัญญาไม่สมบูรณ์ มีอยู่ 6 ข้อหลัก
- ต้องระบุให้ชัดเจนในสัญญาว่าข้อมูลอันเป็นความลับนั้นได้แก่อะไรบ้าง
- ระบุขั้นตอนการบังคับใช้ จะเกิดอะไรขึ้นหากคู่สัญญาเกิดละเมิดกฎข้อนี้ขึ้นมา
- ควรกำหนดข้อยกเว้นบางอย่างในสัญญาเพื่อปกป้องสิทธิที่ควรจะได้รับ เช่น
- มีคำสั่งศาลบังคับให้เปิดเผยข้อมูล
- มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่บังคับให้เปิดเผยข้อมูล
- เป็นข้อมูลที่รับรู้กันทั่วไปแล้วในขณะที่เปิดเผย หรือ “Public Domain”
- เป็นข้อมูลที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างขึ้นมาเอง
- เป็นข้อมูลที่ได้รับมาจากบุคคลภายนอกสัญญาและบุคคลภายนอกสัญญาก็ไม่ห้ามให้เปิดเผยข้อมูล
- คู่สัญญาฝ่ายเจ้าของข้อมูล “ยินยอม” ให้เปิดเผยได้
- เอกสารผิดพลาด เช่น การสะกดชื่อบริษัทผิด หรือแม้กระทั่งใช้คำย่อผิดนั้น ส่งผลให้ข้อสัญญาไม่สมบูรณ์
- ต้องลงนามด้วยชื่อของผู้ที่มีสิทธิพร้อมด้วยหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องนั้น ๆ มิฉะนั้นจะเรียกร้องอะไรไม่ได้หากมีการละเมิดขึ้นมา
- ระบบจัดเก็บเอกสาร เพราะสัญญารักษาความลับ เปรียบเสมือนเอกสารฉบับหนึ่งที่มีวันหมดอายุ หรือวันที่สัญญาไม่มีผลบังคับทางกฎหมายอีกต่อไป รวมไปถึงการสูญหายระหว่างการจัดเก็บด้วย ดังนั้น ควรแน่ใจว่าสัญญาที่มีอยู่นั้นมีสภาพสมบูรณ์และยังมีผลบังคับใช้อยู่
สัญญา NDA สำคัญไฉน ?
สัญญา NDA นอกจากจะเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อการรักษาความลับทางธุรกิจ รักษาข้อมูลสำคัญเชิงธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาด ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลบัญชีโปรแกรมต่าง ๆ ของบริษัท แต่ความสำคัญของการมี NDA ยังมีมากกว่านั้น
ทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สูตรลับเฉพาะ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา หรือข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของบริษัท
ช่วยรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไอเดียหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นหรือกำลังพัฒนาอยู่จะไม่รั่วไหลออกไปให้คู่แข่งได้รับรู้
สร้างความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทกับพนักงาน บริษัทจะมั่นใจได้ว่าพนักงานจะไม่นำข้อมูลสำคัญของบริษัทออกไปเปิดเผย ในขณะเดียวกันพนักงานเองก็จะรู้สึกมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาจะได้รับการปกป้องเช่นกัน
ช่วยป้องกันการนำข้อมูลของบริษัทไปใช้ในทางที่ผิดหลังจากพนักงานลาออก กรณีพนักงานลาออกจากงานไปแล้ว แต่ NDA ยังคงมีผลบังคับใช้ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานนำข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากบริษัทไปใช้ในบริษัทใหม่ หรือนำไปเปิดเผยให้กับคู่แข่ง
และป้องกันการฟ้องร้อง ในกรณีที่เกิดข้อพิพาท สัญญา NDA สามารถเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ละเมิดสัญญา
ผิดสัญญา NDA เจออะไรบ้าง ?
คู่สัญญากระทำผิดต่อสัญญา NDA แล้วนั้น จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่ได้กำหนดในสัญญา หรืออาจมีความผิดตามกฎหมายตามมาอีกด้วย
ยิ่งหากเป็นการกระทำผิดที่เข้าข่ายการเปิดเผยความลับที่ผิดต่อสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จะมีความผิดตาม 2 กฎหมายดังต่อไปนี้
1. ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 : ความผิดฐานเปิดเผยความลับ มาตรา 322-325 ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 : มีการบัญญัติคำนิยามคำว่า “ความลับทางการค้า (Trade Secret)” หากข้อมูลที่เป็นความลับมีความหมายภายใต้คำนิยามนี้ ข้อมูลดังกล่าวก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นิยามของคำว่า “ความลับทางการค้า” ระบุไว้ในมาตรา 3 ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 หมายความว่า ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อรักษาไว้เป็นความลับ
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.97 ได้ที่ https://youtu.be/8pPEcqqgy1M
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ