เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่หน้าเรือนจำกลางบางขวาง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทยรวมตัวกันไว้อาลัยบุคคลที่ถูกประหารชีวิตและยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการใช้โทษประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 9 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการสวมหน้ากากถือป้ายคัดค้าน อาทิ โทษประหารชีวิตไม่ได้ลดอาชญากรรม, ผู้กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายอยู่โดยรอบ
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวว่า แอมเนสตี้มีจุดยืนว่าไม่ได้อ่อนข้อ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำผิดใดๆ ไม่ต้องการเห็นอาชญากรรมรุนแรง และเห็นด้วยกับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม แต่โทษประหารชีวิตไม่ได้แก้ปัญหาอาชญากรรมและเป็นการละเมิดสิทธิร้ายแรง ถ้าสังคมไม่เห็นด้วยกับการฆ่าหรือความรุนแรง เราก็ไม่ควรเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา มีการศึกษามากมายว่าโทษประหารชีวิตไม่แก้ปัญหาอาชญากรรมรวมถึงงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรมเองด้วย
“เรารู้สึกผิดหวังและเสียใจที่รัฐบาลไทยมีการประหารชีวิตเมื่อวานนี้ ถือเป็นความถดถอยทางสิทธิมนุษยชน โดย 2 ใน 3 ประเทศทั่วโลกยุติโทษประหารชีวิตแล้ว แต่ทำไมไทยยังใช้โทษนี้อยู่ เราอาจมีอารมณ์ร่วม เสียใจ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เราเองก็ไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่โทษประหารชีวิตไม่ใช่คำตอบ”
นางปิยนุชกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางองค์กรได้มีการเสนอแนวทางและพูดคุยกับกระทรวงยุติธรรมมาตลอด เพราะหลายกรณีของนักโทษประหารมาจากครอบครัวยากจน เขาควรเข้าถึงทนาย หลายเคสมีแพะ มีพยานเท็จ ควรมีการสอบสวนที่โปร่งใสเป็นธรรม ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองได้ดีแค่ไหน และการลงโทษมีหลายแบบ เช่น การจำคุกตลอดชีวิต เพราะจุดประสงค์ในการลงโทษเพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ ในปฏิญญาสากล สิทธิการมีชีวิตอยู่มีอยู่ในปฏิญญาสากลและหลักสิทธิมนุษยชนไทยก็ยึดถือตามนี้ อีกทั้งไทยมีแผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 มีโรดแมปเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตอยู่ เชื่อว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก เราขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบด้วย ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรง แต่การลงโทษมีหลายแบบ ที่ไม่ควรเป็นการประหารชีวิต เราคิดว่าการประหารชีวิตให้ตายตกตามกัน เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขความรุนแรง มันไม่ใช่ทางออก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว หากประเทศใดไม่มีการใช้โทษประหารติดต่อกัน 10 ปี จะถือว่าเป็นประเทศยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ซึ่งไทยไม่มีการใช้โทษนี้มา 9 ปีแล้ว แต่ได้นำโทษกลับมาใช้ในกรณีล่าสุด
ที่มา : มติชนออนไลน์