
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกประกาศใหม่ หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส อันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ยก “3 พฤติการณ์หลัก” รวมถึงแม้จะจดทะเบียนหย่าขาดตามกฎหมาย แต่ยังมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกันก็ยังถือว่าเป็น “คู่สมรส” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 มีผลบังคับใช้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 142 ตอนที่ 11 ก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ลงนามโดยนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้การประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรสดังกล่าว สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568”
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 3 บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันคู่สมรสโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นคู่สมรสตามมาตรา 102 วรรคสอง และมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
1.ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นคู่สมรสกันตามประเพณี
2.เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกัน”