วีแฟร์ ยื่น 5 ข้อ จี้ปฏิรูปประกันสังคม-สิทธิประโยชน์ทุกมาตรา

Wefair SSO

วีแฟร์นำทัพผู้ประกันตนบุกสำนักงานประกันสังคม ยื่น 5 ข้อเสนอ ปฏิรูปประกันสังคม-สิทธิประโยชน์ทุกมาตรา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ. นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 ครั้งที่ 5/2568 โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคมเป็นประธาน

ทั้งนี้ มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาการปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีการคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 และพิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนนอกตลาด และการลงทุนในกิจการร่วมลงทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

ผู้สื่อข่าวรายงานเวลา 08.30 น. นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair) นำกลุ่มมวลชนผู้ประกันตนจำนวนกว่า 30 คนมารวมตัวกันที่หน้าอาคารอเนกประสงค์ สปส. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อบอร์ดประกันสังคมในการปฏิรูประบบการดำเนินงาน โดยมีนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคมเป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว

นายนิติรัตน์กล่าวว่า สภาพปัญหาของระบบประกันสังคมเกิดจากโครงสร้างการบริหารกองทุนและสำนักงานประกันสังคม ภายใต้การกำกับของภาคราชการ ขาดกลไกตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ขาดประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบบริการ ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ ในขณะที่สิทธิประโยชน์มีความไม่เป็นธรรม ดังปรากฏจากหลักเกณฑ์การคำนวณบำนาญชราภาพที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบันและอนาคต

“ในขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบจำนวนมากขาดการคุ้มครอง เนื่องจากสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ไม่จูงใจ รวมทั้งมีความแตกต่างของสิทธิประโยชน์มาตรา 33, 39, 40 ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สมัครใจเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ สิทธิสุขภาพของระบบประกันสังคมด้อยกว่าสิทธิสุขภาพระบบอื่นของภาครัฐ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบแต่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่จำกัดและไม่มีประสิทธิภาพ” นายนิติรัตน์กล่าว

ADVERTISMENT

นายนิติรัตน์กล่าวต่อว่า เครือข่าย We Fair จึงมีข้อเสนอการปฏิรูประบบประกันสังคมต่อคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนดังต่อไปนี้

1) ปฏิรูปเกณฑ์คำนวณบำนาญชราภาพให้เป็นธรรม โดยปรับปรุงสูตรคำนวณให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รวมถึงพิจารณาการเพิ่มอัตราส่วนเงินสมทบของฝ่ายนายจ้างและภาครัฐ เพื่อให้เงินบำนาญชราภาพมีความมั่นคงและยั่งยืน

ADVERTISMENT

2) ปฏิรูประบบประกันสังคมพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมประชากรในวัยทำงานอายุ 18-60 ปีทุกคน โดยรัฐเป็นผู้สมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานอิสระ แรงงาน แพลตฟอร์มแรงงานในเศรษฐกิจภาคนอกระบบ

3) ปฏิรูปโครงสร้างกลไกการบริหารให้เป็นอิสระ เพื่อการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ สามารถตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบบริการ การปรับปรุงการบริหารเงินลงทุนให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพ การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ผู้ประกันตนและสาธารณชนรับรู้ ในขณะที่การบริหารกองทุนโดยภาครัฐในปัจจุบันมีโครงสร้างการบริหารที่ล้าสมัย ขาดกลไกตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ทั้งนี้ บทบาทของคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งที่มีตัวแทนจากผู้ประกันตน นายจ้าง ทำให้มีผู้แทนแต่ละฝ่ายคอยดุลอำนาจระหว่างกัน แทนที่ชี้นำการบริหารโดยภาครัฐฝ่ายเดียว

4) ปฏิรูปสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนทุกมาตรา ทั้ง 7 กรณี

  • กรณีคลอดบุตร : เงินคลอดและสิทธิวัน
  • กรณีสงเคราะห์บุตร : เงินอุดหนุนและขยายช่วง
  • กรณีเจ็บป่วย : สิทธิการรักษาและค่าทันตกรรม
  • กรณีทุพพลภาพ (พิการ) : เงินทดแทนและการบริการกายอุปกรณ์
  • กรณีว่างงาน : เพิ่มเงินชดเชยและขยายช่วงเวลารับเงิน
  • กรณีชราภาพ (เกษียณอายุ) : เพิ่มเงินบำนาญและปรับโครงสร้างเงินสมทบ
  • กรณีเสียชีวิต : ค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัว

สิทธิประโยชน์เหล่านี้ควรพิจารณาปรับเพิ่มให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และความมั่นคงทางสังคมของผู้ประกันตน ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนควรมีมาตรฐานความคุ้มครองที่ใกล้เคียงกัน

5) ปฏิรูประบบสิทธิสุขภาพประกันสังคม ให้มีมาตรฐานทัดเทียมเทียบเท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งนี้ การบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานควรดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบบเดียว เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและสร้างความเป็นสมานฉันท์ของคนทำงาน เนื่องจากสิทธิการรักษาพยาบาลไม่ควรให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับจากระบบภาษี ในขณะที่คนอีกกลุ่มใช้การร่วมจ่ายของนายจ้างและลูกจ้าง

ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิระบบ สปสช. ควรสามารถนำเงินสมทบมาใช้กับสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพได้

“เครือข่าย We Fair เห็นว่าการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรเร่งรัดดำเนินการการปฏิรูปเกณฑ์คำนวณบำนาญชราภาพ การปฏิรูประบบประกันสังคมพื้นฐานถ้วนหน้า ขยายความคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม การปฏิรูปกลไกบริหารที่เป็นอิสระและโปร่งใส การปฏิรูปสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและการปฏิรูประบบสิทธิสุขภาพประกันสังคม เพื่อให้ระบบประกันสังคมเป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่คนทำงานทุกคน” นายนิติรัตน์กล่าว