
“ปลดล็อกน้ำเมา! กฎหมายสุราชุมชนผ่านฉลุย ฟังเสียงคนกล้า ผลักดันสุราเสรี เปิดทางคนตัวเล็กเป็นผู้ผลิต ไม่จำกัดขั้นต่ำ เสริมเศรษฐกิจไทยให้คึกคัก
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2568 ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งที่ 21 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ซึ่งมีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา (คนที่ 2) ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. หรือร่างสุราชุมชน ในวาระที่ 2 และ 3 โดยผลการลงมติ วาระที่ 2 นั้น มีผู้ร่วมลงมติ 177 คน เห็นด้วย 156 คน ไม่เห็นด้วย 11 คน และงดออกเสียง 10 คน จากนั้นลงมติวาระที่ 3 ต่อในทันที ซึ่งมีผู้ร่วมลงมติ 177 คน เห็นด้วย 166 คน ไม่เห็นด้วย 3 คน และงดออกเสียง 8 คน
โดยภายหลังจากการลงมติเสร็จสิ้น พลตำรวจโทบุญจันทร์ นวลสาย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายและการยุติธรรม วุฒิสภา ลุกขึ้นแสดงความเห็นเพิ่มเติม ว่า จากการที่คณะ กมธ. ลงพื้นที่ได้ไปดูงานยังจังหวัดน่านที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับผู้ผลิตสุราในพื้นเมืองในพื้นที่ ซึ่งบอกว่าเห็นด้วยหากร่างกฎหมายสรรพสามิตฉบับนี้จะผ่านออกมาบังคับใช้ แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คือขวดที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง
“ผู้ผลิตสุราบอกว่า สั่งในประเทศไม่ได้เลย เพราะเจ้าใหญ่เขาล็อกหมดเลย ไม่ผลิตให้เลย ทำให้ต้องสั่งจากต่างประเทศและมีราคาแพง ซึ่งเป็นข้อสังเกตจากผู้ผลิตสุราพื้นเมืองสะท้อนผ่านมายังผม นำเรียนให้ท่านประธานได้ทราบว่ามีช่องทางใดไหมที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาประเด็นนี้ด้วย หากจะผลิตแล้วจะเอาขวดที่ไหน ถ้าใช้ขวดต่างประเทศมันแพงนะ อย่างต่ำให้ได้ขวดในประเทศเรานี่แหละ จ้างคนงานในประเทศ เศรษฐกิจก็หมุนเวียนในประเทศ เพื่อพิจารณาด้วยความเคารพ” พลตำรวจโทบุญจันทร์กล่าว
สมาคมคราฟท์เบียร์ ขอบคุณผู้ร่วมผลักให้ร่างนี้เดินหน้า
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก “สมาคมคราฟท์เบียร์” ได้โพสต์ข้อความถึงการลงมติของ สว. ดังนี้
วุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบจำนวน 166 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 177 เสียง
สาระสำคัญของการแก้ไขในมาตรา 153 วรรคสามของ พ.ร.บ.นี้ คือ :
“กฎกระทรวงในวรรคสอง ให้คำนึงถึงมาตรฐานการผลิตสุราและต้องสนับสนุนให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร หรือผู้ประกอบการรายย่อย สามารถขอรับใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า โดยนำสินค้าเกษตรในประเทศมาผลิตเป็นสุราทุกประเภทที่อาจมีสี หรือมีกลิ่นได้ แต่มิให้กำหนดหลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาออกใบอนุญาต ที่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระเกินสมควร เว้นแต่เป็นการกำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบุคคล ซึ่งมิใช่บุคคลสัญชาติไทย หรือเป็นการผลิตสุราของรัฐวิสาหกิจที่มี่วัตถุประสงค์เพื่อการผลิตสุรา หรือเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อย”
สรุปอย่างง่าย คือ :
ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเกษตรกร สามารถผลิตสุราและเบียร์ได้ทุกประเภท จากที่ก่อนหน้านี้เคยถูกจำกัด เช่น ไม่สามารถผลิตสุราอย่างจิน รัม บรั่นดี หรือวิสกี้ได้ รวมถึงการบรรจุเบียร์ลงกระป๋องก็ทำไม่ได้ หรือมีข้อกำหนดขั้นต่ำในการผลิตที่ 30,000 ลิตรต่อวัน แต่จากนี้ไป “สามารถทำได้” ทั้งหมด
กระบวนการต่อไป นายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้
ในนามสมาคมคราฟท์เบียร์ ขอขอบคุณ :
– สส.ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ – หนุ่ม ประธานกรรมาธิการ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างนี้ และช่วยประสานงานระหว่างผู้ประกอบการและรัฐบาลอย่างเต็มที่
– สส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – Taopiphop Limjittrakorn ผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่มุ่งมั่นทำงานในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้สมาคมคราฟท์เบียร์มีส่วนร่วมในเวทีการประชุม
– คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ที่มีส่วนร่วมในการเสนอร่าง
– คุณบุญสืบ จันทร์แจ่มศรี ผู้ที่มีส่วนร่วมในการเสนอร่าง และการให้ข้อมูล
– กรรมาธิการจากทุกพรรคการเมือง และข้าราชการที่เข้าร่วมชี้แจง
– ผู้สนับสนุนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ตลอดจนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคน ที่ร่วมผลักดันให้ร่างนี้เดินหน้ามาได้ถึงจุดนี้
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
สมาคมคราฟท์เบียร์
เท่าพิภพ ชี้ไทยจะมีโรงเหล้าขนาดเล็กได้แล้ว
ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า สว.โหวตผ่าน พ.ร.บ.สรรพสามิตแล้วนะครับ หลังจากนี้คือรอโปรดเกล้าฯ และบังคับใช้
จากนั้นทางกรมสรรพสามิตต้องออกกฎกระทรวงมาแก้ไขระเบียบเดิมให้ไม่มีข้อจำกัด ทั้งแรงม้า ปริมาณ หรืออื่น ๆ ที่จำกัดการขอใบอนุญาตของทั้งผู้ผลิตเบียร์ เหล้าขาว สุราสีอีกต่อไป
ประเทศไทยจะมีโรงเบียร์โรงเหล้าขนาดเล็กได้แล้ว เส้นทางต่อไปคือ พ.ร.บ.ควบคุม ที่จะพิจารณาในสัปดาห์นี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ต่อสู้ร่วมกันมาครับ หวังว่าเรื่องอื่น ๆ ของคนตัวเล็ก ๆ จะได้ปลดล็อกอีกบ้าง เส้นทางต่อไป พ.ร.บ. #ที่พักเท่าเทียม
รองโฆษกเพื่อไทย เชื่อต่อยอด Soft Power ผ่านสุราพื้นบ้าน
ด้านนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษก พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้ #วุฒิสภา มีมติเห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เรื่อง #สุราชุมชน ตามการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย โดยไม่มีการแก้ไขครับ
ในฐานะประธานกรรมาธิการ ผมขอขอบคุณวุฒิสมาชิกทุกท่าน และผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ทุกคนครับ
เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์สุราที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น และมีส่วนส่งเสริมการต่อยอดการรับรู้ Soft Power ของไทย ผ่านวัฒนธรรมสุราพื้นบ้าน อย่างแน่นอนครับ
อรรถวิชช์ ปิดจ็อบกฎหมายสุรารวมไทย
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้ปิดจ็อบ! กฎหมายสุรารวมไทย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ผ่านวุฒิสภาด้วยคะแนนเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ตามที่สภา สส.เห็นชอบเรียบร้อย
นอกจากเรื่องห้ามผูกขาดแล้ว หลักที่ผมใส่ลงไปตอนร่างกฎหมายคือ ให้สุราชุมชน “มีสีมีกลิ่นได้“ หลายคนงงว่าเขียนไปทำไม ? แต่มันคือ “สาระสำคัญที่ทำให้ทำลายทุนผูกขาดในสุราพิเศษ พวกวิสกี้ บรั่นดี รัม โดยคนตัวเล็ก ๆ ไม่ต้องโดนบังคับผลิตขั้นต่ำที่วันละ 30,000 ลิตร แล้วครับ”
ขอบคุณ แม่เลี้ยงติ๊ก ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สส.รวมไทยสร้างชาติ ที่เชื่อให้ผมยกร่างกฎหมาย และปุ๊ บุญสืบ จันทร์แจ่มศรี ที่สนับสนุนข้อมูลได้ลึกซึ้ง
เชื่อในสิ่งที่ทำ…ทำในสิ่งที่เชื่อ
ส่วนนายบุญสืบ จันทร์แจ่มศรี ระบุว่า วันนี้…วุฒิสภามีมติเห็นชอบการแก้ไข พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ในส่วนของสุราชุมชน ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ถือเป็นการปลดล็อกครั้งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรสามารถผลิตสุราและเบียร์ได้ทุกประเภท
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้น
– ผลิตสุราได้ทุกประเภท – ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการรายย่อยถูกจำกัดให้ผลิตเฉพาะสุราพื้นบ้าน แต่หลังการแก้ไข สามารถผลิตสุราชนิดอื่น เช่น จิน, รัม, บรั่นดี, วิสกี้ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
– เบียร์บรรจุกระป๋องได้ – จากเดิมที่ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขายเบียร์ได้เฉพาะแบบสด (Draft Beer) แต่ห้ามบรรจุลงกระป๋องหรือขวด ตอนนี้ สามารถบรรจุได้ทุกรูปแบบ ทำให้มีโอกาสแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
ยกเลิกข้อกำหนดปริมาณขั้นต่ำ – เดิมกำหนดให้โรงเบียร์ขนาดเล็กต้องผลิตไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดเล็ก แต่จากนี้ไป ไม่มีข้อกำหนดขั้นต่ำ ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเริ่มต้นได้ตามกำลังการผลิตของตัวเอง
ผลสำเร็จที่คาดหวัง
– เปิดโอกาสให้เกษตรกรและธุรกิจท้องถิ่น – สามารถนำผลผลิตในชุมชน เช่น ข้าว, อ้อย และผลไม้ มาแปรรูปเป็นสุรา เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
– ส่งเสริม Soft Power ไทย – สุราพื้นบ้านและสุราคราฟต์จากไทยสามารถส่งออกและแข่งขันกับสุราระดับโลก เช่นเดียวกับที่ สาเกของญี่ปุ่น และโซจูของเกาหลี ประสบความสำเร็จ
– กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว – เพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค ทำให้สุราท้องถิ่นกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายของไทย
การต่อสู้อันยาวนานจบลงแล้ว…ขอบคุณ สส.ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ประธานกรรมาธิการ สส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี คณะกรรมาธิการจากทุกพรรคการเมือง ข้าราชการที่เข้าร่วมชี้แจง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน
– การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมสุราไทย สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง
ประเทศไทยจะมี Nano Brewery แล้ว
ขณะที่ เพจแดกเบียร์ให้เพลียแคม โพสต์ข้อความระบุว่า วันนี้ วุฒิสภาได้มีการโหวต พ.ร.บ.สรรพสามิต (สุราก้าวหน้า) ซึ่งผลคือเห็นด้วย 166 เสียง พ.ร.บ.สรรพสามิต ผ่านแล้วนะครับ หลังจากนี้คือรอโปรดเกล้าฯ และบังคับใช้ต่อไป ในที่สุดประเทศไทยก็จะมี Nano Brewery ได้แล้วนะครับ
ขอขอบคุณชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ – หนุ่ม ในฐานะประธานกรรมาธิการ ที่ช่วยผลักดัน พ.ร.บ.นี้อย่างถึงที่สุด, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – Taopiphop Limjittrakorn ผู้ที่จุดประกายให้เรื่องนี้เป็นฉันทามติของสังคมและเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตลอด, คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี / พี่ปุ๊ บุญสืบ จันทร์แจ่มศรี, ท่าน ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู (แม่เลี้ยงติ๊ก) จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ช่วยกันเสนอความเห็นในห้องประชุมกันอย่างดุเดือด จนได้ในสิ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยต้องการอาจารย์เจริญ เจริญชัย และคุณณัฐชัย อึ้งศรีวงศ์ กมธ.จากฝั่งผู้ประกอบการ (ในโควตาพรรคประชาชน) ที่ช่วยสู้กันอย่างเต็มที่, กรรมาธิการทุกท่านจากทุกพรรคการเมือง ที่ช่วยสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.นี้ สมาชิกวุฒิสภาทุกท่านที่ช่วยกันโหวตเห็นด้วย
ขอบคุณทุกท่านที่อาจไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ช่วยกันมาตลอด
ขอขอบคุณทุกท่านจากใจครับ
ด่านต่อไปคือ การพิจารณา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ ไว้ผมจะมารายงานสด ๆ นะครับ