สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ แนะทำผังรอยร้าว-ค้ำยัน เสาชิงช้า ก่อนพายุถล่ม

Saochingcha เสาชิงช้า
ภาพจาก Adobe Stocks

สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ แนะทำผังรอยร้าว-ความเสียหายเสาชิงช้า พร้อมค้ำยันก่อนพายุร้อนซัด ขณะที่ กทม.เร่งหาตัวผู้รับจ้าง-จ้างที่ปรึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวความคืบหน้าการปรับปรุงซ่อมแซมเสาชิงช้าว่า ขณะนี้นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือตอบกลับ สำนักวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) แล้ว หลังจากสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างเข้าร่วมตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ สวพ. โดยวิธีการตรวจสอบนั้น เป็นการตรวจสอบด้วยสายตาในเบื้องต้น (Basic Visual Inspection)

ทั้งนี้จากการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โครงสร้างและวัสดุนั้น ได้ตรวจพบความเสียหายไม้ที่บริเวณปลายบนของเสาใต้คาน โดยลักษณะความเสียหายประกอบด้วย 1.การปริแตกของไม้ (Splitting) 2. การกะเทาะ (Spalling) และ 3. รอยร้าวทำมุมเอียง (Inclined Cracks) โดยพบมากในบริเวณที่มีการต่อกันของท่อนไม้

เมื่อสำรวจเนื้อไม้ด้านในพบมีลักษณะนุ่ม ชื้น และสามารถขูดลอกออกมาเป็นแผ่นได้ ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นความเสียหายต่อทั้งโครงสร้างและกำลังวัสดุโดยตรง ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเสียหายในระดับสำคัญ (Major Damages) ซึ่งอาจกระทบต่อกำลังรับน้ำหนักโครงสร้างเสาชิงช้าได้

โดยความเสียหายดังกล่าวคาดว่าเกิดจากอายุการใช้งาน และการเสื่อมสภาพวัสดุ รวมทั้งโครงสร้างที่ตั้งอยู่กลางแจ้งมีโอกาสที่จะเสื่อมสภาพตามสภาวะแวดล้อมที่มีแสงแดด การเปลี่ยนของอุณหภูมิ (High and Low Temperature Cycles) ความขึ้นสลับแห้ง (Wet and Dry Cycles) นอกจากนี้สภาพโครงสร้างที่ต้องรับแรงลมที่สลับทิศไปมาย่อมมีโอกาสสร้างความเค้นที่สูง และการล้า (Fatigue) ซึ่งมีผลต่อการเสื่อมสภาพได้เช่นกัน

สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.ควรสำรวจในเชิงลึก จัดทำแผนผังรอยร้าวและความเสียหายอย่างเป็นระบบ นำวัสดุเนื้อไม้ด้านในที่บริเวณต่าง ๆ ไปตรวจสอบกำลังวัสดุ และเชื้อโรคในเนื้อไม้ ในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนวิเคราะห์โครงสร้างโดยใช้แบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ เพื่อดูผลตอบสนองภายใต้แรงลม เป็นต้น

ADVERTISMENT

2.เนื่องจากความเสียหายที่ตรวจพบอาจส่งผลต่อกำลังรับน้ำหนักของโครงเสาได้ และในช่วงเดือนเม.ย.ของทุกปี จะมีพายุฤดูร้อน ซึ่งมีการกระโชกของกระแสลม ที่สร้างแรงกระทำต่อโครงสร้างสูงขึ้นกว่าปกติได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้เสริมกำลัง (Strengthening) ชิ้นส่วน หรือค้ำยันให้แก่โครงสร้าง (Bracing) ไว้ก่อนตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ควรเร่งดำเนินการก่อนจะมีพายุฤดูร้อน 3.จากผลการประเมินโครงสร้างโดยละเอียดตามข้อ 1 จะสามารถนำไปใช้เพื่อประเมินอายุของเสาชิงช้า และเพื่อสรุปทางเลือกในการดำเนินงานทางวิศวกรรมที่เหมาะสมต่อไป

ซึ่งทำได้หลายทางเลือก อาทิ ซ่อมและเสริมความแข็งแรงส่วนที่ได้รับความเสียหาย หรือเปลี่ยนโครงสร้างใหม่บางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้แต่ละวิธีมีเทคนิคทางวิศวกรรม ค่าใช้จ่าย เวลาในการดำเนินงาน และอายุการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป และต้องให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานโบราณสถานของกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ADVERTISMENT

นอกจากความเสียหายที่ตรวจพบกับโครงสร้างตามข้อ 2 แล้ว ยังตรวจพบความเสียหายเชิงสถาปัตยกรรม เช่น สีหลุดล่อนที่บริเวณต่าง ๆ การแยกของกระจัง เป็นต้น ความเสียหายเหล่านี้ เป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ด้านโครงสร้าง (Nonstructural Damages) หรือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนที่ไม่ได้รับน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม การแยกของกระจัง จึงอาจร่วงหล่นจากที่สูงและเป็นอันตรายต่อประชาชนได้ จึงควรดำเนินการยึดรั้งให้มั่นคงโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม สวพ.เตรียมประกวดราคาหาผู้รับจ้างมาค้ำยันโครงสร้างก่อนจะมีพายุฤดูร้อน ขณะเดียวกันจ้างที่ปรึกษาศึกษาวิธีซ่อม จากนั้นนำผลศึกษาเสนอกรมศิลปากรให้ความเห็นชอบก่อนจ้างซ่อม เพื่อให้เสาชิงช้ามีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมและเพื่อความสวยงามให้อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครต่อไป