BITE SIZE : “CARE” สูตรใหม่ คำนวณบำนาญ ประกันสังคม ม.33-ม.39

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ประเด็นสูตรคำนวณบำนาญของผู้ประกันตนได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ที่เคยส่ง ม.33 แล้วลาออกจากงาน และส่งเงินสมทบ ม.39 ต่อ เพราะเงินบำนาญลดลงเยอะมาก

นำมาสู่การเรียกร้องและผลักดันให้ใช้สูตรคำนวณบำนาญ ผู้ประกันตน สูตรใหม่ และเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา บอร์ดประกันสังคม เคาะปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่ คิดเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงาน เพิ่มความแฟร์ให้ผู้ประกันตน

Prachachat BITE SIZE ชวนดูสูตรคำนวณบำนาญ สูตรใหม่ จะมีความแตกต่าง ซับซ้อน และส่งผลต่อผู้ประกันตนอย่างไร

ทำความเข้าใจ “สูตรเก่า VS สูตรใหม่”

สูตรการคำนวณบำนาญแบบปัจจุบันที่ใช้อยู่นี้ มีชื่อว่า “Final Average Earnings (FAE)” คำนวณเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ และไม่คิดเศษเดือน (เช่น ส่ง 25 ปี 6 เดือน = 25 ปี) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2540 หรือกว่า 27 ปีที่แล้ว

ปัญหาของสูตรคำนวณบำนาญ FAE คือ หากผู้ประกันตนมีค่าจ้างลดลง ช่วง 60 เดือนสุดท้าย จะทำให้ได้รับเงินบำนาญที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่ออกจากงาน และยังส่งเงินสมทบต่อ ตามมาตรา 39 ซึ่งมีเพดานค่าจ้างสูงสุดเพียง 4,800 บาทเท่านั้น ต่ำกว่ามาตรา 33 ที่มีเพดานค่าจ้างสูงสุดที่ 15,000 บาท

ขณะที่สูตรคำนวณบำนาญแบบใหม่ มีชื่อว่า “Career-Average Revalued Earnings (CARE)” ซึ่งมีการใช้ในหลายประเทศ และเป็นไปตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ทำวิจัยและให้คำปรึกษา มาตั้งแต่ปี 2563

ADVERTISMENT

สูตรคำนวณบำนาญแบบ CARE จะเน้นหลักการที่ว่า “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วนจริง” คำนวณเงินเดือนหรือค่าจ้างเฉลี่ยตลอดการทำงาน คิดค่าจ้างทุกเดือนที่เคยส่งสมทบ พร้อมทั้งปรับ Index ค่าจ้างในอดีตให้เป็นค่าเงินปัจจุบันก่อนนำมาคำนวณ

หลักการนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกันตนที่ส่ง ม.39 ในช่วงท้ายของการทำงาน ได้รับเงินสมทบที่มากขึ้น และทำให้การได้เงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน มีความเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงลดปัญหาสูตร 60 เดือนสุดท้ายที่บางคนใช้เพื่อให้ได้บำนาญสูงเกินจริง หรือกลุ่มที่ส่งมาตรา 39 ต่อเนื่อง ที่ฐานต่ำเกินไป

ADVERTISMENT

แต่สูตร CARE จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องมีการปรับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้บำนาญที่ได้สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง

ถอดสูตรคำนวณ “บำนาญ”

การคำนวณเงินบำนาญของประกันสังคมจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ เงินบำนาญพื้นฐาน สำหรับผู้ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 งวด หรือ 15 ปี และเงินบำนาญเพิ่มเติม กรณีส่งมาแล้ว เกิน 15 ปี โดยจะได้เพิ่ม 1.5% ทุกปี

การคำนวณสูตรเดิม จะใช้ฐานเงินเดือนช่วง 60 เดือนสุดท้ายก่อนรับเงินบำนาญ ซึ่งขึ้นอยู่ว่า อยู่ในระบบไหน ถ้ายังอยู่ ม.33 ตลอดช่วง จะใช้ฐานเงินเดือนปัจจุบัน ซึ่งสูงสุดที่ 15,000 บาท ถ้า 60 เดือนสุดท้าย ย้ายมาส่ง ม.39 แล้ว จะใช้ฐานเงินเดือนที่ 4,800 บาท แต่ถ้า 60 เดือนสุดท้าย เพิ่งย้ายมาจาก ม.33 เป็น ม.39 จะเฉลี่ยฐานเงินเดือนให้ตามระยะเวลาที่ส่ง

ส่วนการคำนวณสูตรใหม่ จะใช้ฐานเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงาน ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ จะอยู่ ม.33 มาตลอด หรือออกจาก ม.33 มาส่ง ม.39 ต่อในช่วงท้าย หรืออยู่ ม.33 ออกมาส่ง ม.39 ต่อ แล้วกลับมาอยู่ในระบบ ม.33 อีกครั้ง ก็นำมาคำนวณหมด โดยคำนวณจากทุกเดือนที่ส่งสมทบ ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ พร้อมทั้งปรับค่าเงินย้อนหลัง (Index) ให้เป็นปัจจุบัน

นอกจากนี้ สูตรเก่า และสูตรใหม่ จะมีความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ การคำนวณเงินเพิ่มเติมในสูตรเก่า จะนับแค่ปี ปัดเศษเดือนทิ้ง ส่วนสูตรใหม่ จะนับเศษเดือนที่เหลือ

ตัวอย่าง ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ ม.33 มาแล้ว 20 ปี โดยปีที่ 1-10 ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ปีที่ 11-20 ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากนั้นได้ออกจากงานประจำ แล้วส่งเงินสมทบ ม.39 ต่ออีก 2 ปี 6 เดือน ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

สูตรเก่า จะคำนวณระยะเวลาสำหรับเงินเพิ่มเติมแค่ 7 ปี ส่วนสูตรใหม่ คำนวณระยะเวลาสำหรับเงินเพิ่มเติม 7 ปี กับ 6 เดือน แต่สูตรใหม่ จะมีการปรับเรื่องเงินเดือนที่ใช้คำนวณ ให้เป็นค่าเงินปัจจุบัน

ในที่นี้อาจจะยังไม่เห็นภาพว่าสูตรใหม่นี้ ใครจะได้เพิ่มมาก-น้อยแค่ไหน กระทบใครบ้าง นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม อธิบายตัวอย่างผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ 5 เคส ดังนี้

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เคยส่งฐาน 15,000 (ตอนมาตรา 33) แล้วเปลี่ยนไปส่ง 4,800 บาทช่วง 6 ปีสุดท้าย บำนาญเพิ่มมาก (จาก ~1,750 เป็น ~4,789 บาท หรือ +173%)
  • ผู้ที่ส่งมาตรา 33 ไม่นานแล้วมาส่งมาตรา 39 นาน ๆ บำนาญเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเท่ากรณีแรก
  • ผู้ที่ส่งฐาน 15,000 บาทตลอด พอเพดานขยับเป็น 17,500 ในปี 2569 บำนาญขยับขึ้นจาก 5,700 เป็น 6,039 บาท (+6%) แต่ถ้าเกษียณหลังปรับเพดานค่าจ้างไปเกิน 60 เดือน สูตรใหม่จะได้น้อยกว่าเก่า (เพราะสูตรเก่าไม่นำช่วงเพดานเก่า 15,000 มาคิด จึงได้มากกว่าตามสัดส่วนการส่งจริง)
  • กลุ่มค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท จะได้บำนาญใกล้เคียงสูตรเดิม
  • ผู้ที่ค่าจ้างต่ำเกือบตลอด แต่ไปเร่งส่งสูง 15,000 ช่วง 5 ปีสุดท้าย บำนาญอาจลดลง เพราะสูตร CARE ป้องกันไม่ให้เอาเปรียบระบบโดยจ่ายสูงเฉพาะโค้งสุดท้าย

เช่นเดียวกับ นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคม ระบุว่า การใช้สูตรใหม่จะไม่มีทางได้บำนาญเกินสูตรเก่า เพียงแค่เป็นการปรับ (Adjust) ให้ผู้ที่เสียประโยชน์ โดยคนส่วนมากโดยเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา 39 จะได้บำนาญเพิ่มประมาณ 1,000 บาท และจะทำให้เฉลี่ยแล้วคนได้บำนาญไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปี ใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท แต่สามารถช่วยผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง หลังจากนั้นงบประมาณก็จะไม่เพิ่ม และไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม

เงินบำนาญ “สูตรใหม่” เริ่มเมื่อไร ?

หลังจากบอร์ดประกันสังคมเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยเมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ทางบอร์ดมอบหมายสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการศึกษาด้วยวิธี “ปั้นตุ๊กตา” (Simulation หรือ Case Study) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการคำนวณใหม่ในกลุ่มผู้ประกันตนที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน เช่น จาก ม.33 ไป ม.39 หรือจาก ม.39 กลับมาที่ ม.33 โดยเบื้องต้นวางกรอบขั้นตอนภายใน 90 วัน ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์

จากนั้นเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นเป็นเวลา 30 วัน เพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงสูตร และเข้าสู่ขั้นตอนการร่างและพิจารณากฎกระทรวง แล้วประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ขณะเดียวกัน การจ่ายเงินบำนาญ ผู้ประกันตนจะมีกติกาในการเปลี่ยนผ่าน คือ ผู้ที่รับบำนาญอยู่แล้ว (ประมาณ 800,000 คน) ไม่มีใครได้รับบำนาญลดลง และคำนวณด้วยสูตรใหม่แล้วได้มากขึ้น ก็ปรับให้เพิ่มทันทีในเดือนถัดไป หลังจากประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว แต่ไม่มีการให้ย้อนหลัง

ส่วนผู้ที่จะเริ่มรับบำนาญหลังสูตรใหม่บังคับใช้ หากสูตรเก่าให้บำนาญมากกว่า จะคำนวณแบบ “ผสม” (เก่า+ใหม่) จ่ายตลอดชีวิต โดยแบ่งตามปีที่จะเริ่มรับบำนาญ และจะเริ่มใช้สูตร CARE เต็มรูปแบบ ประมาณปี 2574 เป็นต้นไป

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.98 ได้ที่ https://youtu.be/zukjrRndMlg

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ