
สถานการณ์ด้านประชากรของประเทศไทย จำนวนการตายมากกว่าการเกิด เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน สธ.-ทีมพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์ฯ เสนอร่าง “วาระแห่งชาติ” หนุนมีบุตรอย่างมีคุณภาพแก้วิกฤตเกิดน้อย
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อเรื่องเพื่อพิจารณา 4 เรื่อง
1.ให้เสนอร่างวาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ต่อ ครม.
2.ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษาด้านวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์และประชากร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนจากภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ
3.เตรียมยกร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2571-2575) และ 4.เสนอให้กำหนดประเด็นส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเป็นนโยบาย สธ.
ด้าน พญ.อัมพรกล่าวถึงสถานการณ์ด้านประชากรของประเทศไทยว่า พบว่า จำนวนการตายมากกว่าการเกิด เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยในปี 2566 จำนวนการเกิดเหลือเพียง 462,240 คน จำนวนการตาย 571,646 คน และจำนวนบุตรโดยเฉลี่ย ลดลงจาก 6 คน เหลือเพียง 1.12 คน
“การลดลงของจำนวนประชากร คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 15-20 ปี จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตาม สธ.จำเป็นต้องส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพต่อไป เพราะการมีบุตรได้ตามต้องการเป็นสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และเป็นมาตรการเดียวในขณะนี้ที่สามารถวัดประสิทธิภาพได้ กรมอนามัยจึงร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) พัฒนาคุณภาพการจัดบริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ระดับที่ 1 ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อให้คำปรึกษา ในการวางแผนครอบครัว เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงในการมีบุตร
โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคทางพันธุกรรม คลินิกส่งเสริมการมีบุตร ระดับที่ 2 มุ่งเน้นการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) ให้ครบทุกจังหวัด ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 64 จังหวัด คลินิกส่งเสริมการมีบุตร ระดับที่ 3 ให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว มดลูก (IVF) ให้ครบทุกภาค ขณะนี้มีคลินิกเปิดให้บริการแล้ว 3 ภาค คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายภายในปี 2568