
ศาลแขวงขอนแก่นยกฟ้องผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหลอกติดตั้งแอปปลอม สูญเงินจากบัตรเครดิตกว่าหนึ่งแสน ถูกบัตรกรุงไทยฯ ฟ้องเรียกชำระหนี้ ศาลชี้ผู้บริโภคไม่ต้องรับผิดชอบเพราะไม่ได้ก่อหนี้เอง
นางสาวจินตนา ศรีนุเดช หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า หน่วยงานได้ช่วยเหลือด้านคดีความหลังจากได้รับเรื่องร้องจากผู้บริโภคที่ถูกมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าแจ้งให้เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นระบบดิจิทัลและหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอมที่สามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือและแอปบัตรเครดิตจากระยะไกล ส่งผลให้มิจฉาชีพสามารถถอนเงินสดจากแอปบัตรเครดิตไปโดยที่เจ้าของบัญชีไม่รู้ตัว เมื่อทราบว่าถูกหลอกลวง ผู้บริโภครีบแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น และติดต่อบัตรกรุงไทยเพื่อยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมเอง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทบัตรเครดิตกลับยื่นฟ้องผู้บริโภคให้ชำระหนี้จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลแขวงขอนแก่นได้มีคำพิพากษายกฟ้อง กรณีบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องผู้บริโภครายหนึ่งชำระหนี้จำนวน 113,263.99 บาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ด้านนายสุรกิจ สิงหะพล เจ้าหน้าที่กฎหมายและคดี สภาผู้บริโภคได้กล่าวถึง เหตุผลในการยกฟ้องผู้บริโภคอาจสรุปได้ว่า 1.หลังจากเกิดเหตุผู้บริโภครีบแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าถูกหลอกลวง อาจยืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้รีบดำเนินการเมื่อทราบเหตุ
2.ผู้บริโภคอาจถูกขโมยรหัสลับเฉพาะบุคคล (PIN) ผ่านเครื่องมือควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ระยะไกล และผู้บริโภคไม่ได้ยินยอมที่จะให้ข้อมูลนั้นกับบุคคลอื่น ดังนั้น การทำธุรกรรมถอนเงินสดที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยที่ผู้บริโภคเป็นผู้ทำรายการด้วยตัวเอง

พร้อมเปิดเผยสาระสำคัญของคำพิพากษาว่า ศาลได้วินิจฉัยข้อตกลงและเงื่อนไขในคำขอเบิกสินเชื่อที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบในธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการใช้รหัสประจำตัวของผู้ให้บริการทุกกรณี เป็นข้อตกลงและเงื่อนไขที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเกินสมควร อันเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กับเมื่อผู้บริโภคแจ้งเหตุความเสียหายให้บัตรกรุงไทยและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยมีหลักฐานยืนยันแล้ว จึงเชื่อได้ว่าผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้เบิกถอนเงินสดด้วยตนเอง
“ในคดีนี้ศาลได้พิจารณาว่าผู้บริโภคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมดังกล่าว และไม่ควรต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดจากการกระทำของมิจฉาชีพ จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง หมายความว่าผู้บริโภคไม่ต้องชำระหนี้ตามที่บริษัทบัตรกรุงไทยฯ ฟ้องร้อง ซึ่งถือเป็นการยืนยันหลักการสำคัญ ว่าหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้บริโภคเอง และธุรกิจไม่ควรนำมาฟ้องร้องบังคับให้ผู้บริโภคชำระหนี้” เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองฯ สภาผู้บริโภคระบุ
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกัน สภาผู้บริโภคแนะนำว่าให้แจ้งความลงบันทึกประจำวัน และแจ้งให้บัตรเครดิตทราบทันทีหากถูกตัดเงินโดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ทำรายการด้วยตัวเอง และหากถูกฟ้องร้องไม่ควรไปศาลโดยไม่มีทนายความ และไม่ควรทำสัญญายอมรับผิดโดยเด็ดขาด เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นอาจมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายที่สามารถทำให้ไม่ต้องรับผิดหรือรับผิดน้อยลงได้ การยอมชำระหนี้ไปแล้วอาจทำให้แก้ไขได้ยาก ดังนั้น หากได้รับหมายศาลหรือคำฟ้องควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง หรือขอคำปรึกษากับสภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502