
ลูกหนี้เบี้ยวนัด ยืมเงินไม่คืนกรณีไหนบ้างที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้ พร้อมข้อเสนอ 3 วิธีไกล่เกลี่ยแบบไม่ต้องรอเรื่องถึงศาล
ท่ามกลางมหากาพย์การยืมเงินหลายสิบล้านและทรัพย์สินมูลค่ากว่า 60 ล้านบาทลากโยงไปหาบุคคลที่สาม ที่สี่ และน่าจะมีคนที่ห้าตามคำใบ้ของมดดำ คชภา ของนักแสดงสาว ดิว อริสรา กับเจ้าหนี้ เมย์ วาสนา และโจทย์ใหม่ ซุง ศตาวิน เจ้าหนี้ที่ให้ยืมเงินกว่า 20 ล้านบาทผ่านพี่ชายคนสนิท
ซึ่งคาดว่าจะไม่จบลงง่าย ๆ เนื่องจากเป็นการยืมเงินไร้สัญญา เพราะหากเป็นการกู้ยืมที่นับเป็นคดีความระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย โดยมีฝ่าย “ลูกหนี้” ที่ทำผิดสัญญาด้วยการไม่ชำระเงินคืน “เจ้าหนี้” เต็มจำนวน หรือตามวันเวลาที่ตกลงไว้ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายกำหนดให้สามารถใช้สิทธิทางศาลได้
มีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๓ ที่ระบุว่า “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้” นอกจากนี้การที่ลูกหนี้ขอชำระด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นหรือแบ่งชำระบางส่วนนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ถือเป็นการผิดสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะไม่รับชำระและยื่นฟ้องได้ เพราะถือว่าลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้อง
แต่กรณีของการยืมเงินนี้ไม่สามารถแจ้งความได้ เนื่องจากเป็นคดีแพ่งที่ตำรวจไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีแพ่งแทนผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงต้องทำเดินการติดต่อทนายความเพื่อขอความช่วยเหลือในการฟ้องร้องคดีแทน
และมีเงื่อนไขว่า มีการยืมเงินมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป และต้องมีหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลายเซ็นผู้กู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ความว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
ดังนั้นสำหรับการกู้ยืมเงินทุกครั้ง ผู้ให้ยืมควรร่างหนังสือสัญญากู้ยืมอย่างชัดเจน โดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน ได้แก่ วันเดือนปีในการทำสัญญา, รายละเอียดของผู้ให้กู้และผู้กู้, วันกำหนดชำระคืน, ดอกเบี้ย หรืออื่น ๆ ส่วนในกรณีที่ยืมเงินไปแล้วก็สามารถทำหนังสือรับสภาพหนี้ภายหลังเพื่อนำมาใช้ดำเนินคดีต่อศาลได้เช่นกัน
ไม่มีหนังสือสัญญา ฟ้องไม่ได้ ?
หากมีหนังสือสัญญาเงินกู้ชัดเจนคงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวหรือประเด็นเดือดร้อนทางโลกออนไลน์มักจะเป็นกรณีของคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง ญาติสนิทเข้ามายืมเงิน ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้การทำหนังสือสัญญาและหลายคนก็เข้าใจว่าไม่สามารถฟ้องร้องได้
แต่จริง ๆ แล้ว เจ้าหนี้สามารถใช้หลักฐานอย่างประวัติการแชตที่เป็นข้อความการสนทนาบนแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มายืนฟ้องร้องได้ แต่ต้องมีรายละเอียดระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้กู้ยืมคือใคร จำนวนเงิน วันกำหนดชำระคืน รวมถึงสลิปการโอน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหนังสือและหลักฐานการกู้ยืมเงินได้
ซึ่งหลังจากเก็บรวบรวมหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนยอดฮิตอย่าง “ยื่นฟ้องร้องต่อศาล” เป็นวิธีแรกที่เจ้าหน้าเลือกใช้เพื่อให้ได้เงินคืน แต่การดำเนินคดีนั้นอาจใช้เวลานานเป็นเดือนไปจนถึงปี เนื่องจากศาลมีจำนวนคดีที่ต้องดำเนินจำนวนมาก และแต่ละขั้นตอนก็ซับซ้อน อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง
3 วิธีแก้ยืมไม่คืนก่อนเรื่องถึงศาล
จึงมีการเสนอวิธีการระงับข้อพิพาทนี้ผ่าน 3 ทางเลือก ซึ่งเป็น 1 ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ต้องผ่านการตัดสินของศาล โดยเป็นวิธีที่ช่วยยุติและหาทางออกที่เป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่ายได้แบ่งเป็น 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1. การเจรจา (Negotiation) คือ การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ยินยอมที่จะเจรจาหาข้อตกลงกันเอง โดยปราศจากบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้อง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ความลับระหว่างคู่เจรจาไม่รั่วไหล
2. การประนอมข้อพิพาท (Mediation) หรือการไกล่เกลี่ยเป็นการระงับข้อพิพาทด้วยความยินยอมของคู่กรณี โดยที่มีบุคคลที่สามอย่าง “ผู้ประนอม” เข้ามาเป็นคนกลางคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการหาทางออกร่วมกัน ที่อาจเป็นผู้พิพากษาในศาล ซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน หรือเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลทั่วไปก็ได้เช่นกัน ส่งผลให้การไกล่เกลี่ยมีความเป็นกลาง
3. อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ กระบวนการที่คู่พิพาทตกลงให้บุคคลที่ 3 ที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทนั้นเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งมีข้อผูกพันทางกฎหมาย แม้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลแล้ว คู่พิพาทก็สามารถต้องถอนฟ้องจากศาลเพื่อมาอนุญาโตตุลาการแทนได้
ข้อมูลจาก THAC, สำนักงานกิจการยุติธรรม