Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ … พ.ศ. … ที่ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 38 มาตรา ในวาระ 2 และวาระ 3 หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 365 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง และเตรียมเข้าขั้นตอนการพิจารณาของ สว. ต่อไป
Prachachat BITE SIZE ชวนสำรวจรายละเอียดให้มากขึ้นว่า ร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่นี้ มีการปรับ เปลี่ยน คลายล็อกประเด็นใดบ้าง
ย้อนประวัติศาสตร์ “คุมเหล้า-เบียร์”
การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับแรกสุดของไทยที่มีการบัญญัติอย่างเป็นทางการ คือ พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งหลักของกฎหมายนี้คือการควบคุมการผลิตและการจำหน่ายสุราในประเทศไทย
จากนั้นมา ก็มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมอีกหลายฉบับเพื่อควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบรรดาสุราต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ การควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2495 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีการปรับเปลี่ยนเรื่องการควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาต่อเนื่อง
กระทั่งปี 2551 ยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นครั้งแรก มีการกำหนดทั้งควบคุมการจำหน่าย และการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการปรับแก้ การเพิ่มข้อรายละเอียดต่าง ๆ ตามมา เช่น ห้ามเอ่ยถึงสรรพคุณ ห้ามโชว์แบรนด์เหล้า-เบียร์ ห้ามชักชวนให้ดื่ม ห้ามขายออนไลน์ กำหนดเรื่องการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ บนโซเชียลมีเดียและอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่เวลาผ่านไป ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทั้งรายใหญ่ที่เราคุ้นเคย ชื่อสารพัดสิงสาราสัตว์ ไปจนถึงรายเล็ก รายย่อย สุราชุมชน ซึ่งเพิ่งมีการปลดล็อกไปเมื่อไม่นานมานี้
กฎหมายเหล่านี้ แม้ว่าจะเพื่อควบคุมเรื่องอันตรายต่าง ๆ หรือคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามหลัง แต่บรรดาผู้ประกอบการก็ตั้งข้อสังเกตถึงการควบคุมโฆษณาที่ทำให้รายเล็กก็ไม่เกิด เพราะไม่มีช่องทางสื่อสาร รายใหญ่ก็สื่อสารยาก ทำของใหม่ยาก ตลาดก็ไม่ขยาย หรือเรื่องการควบคุมเวลาขายที่ฝั่งผู้ประกอบการ มองว่า ถ้าปลดล็อก น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น
เริ่มผ่อนคลาย คุม “เหล้า-เบียร์”
ในช่วง 1-2 ปีมานี้ รัฐบาลพยายามที่จะปลดล็อกเรื่องการขาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้น คือ การปลดล็อกให้สถานบริการในพื้นที่ที่กำหนด สามารถเปิดได้จนถึง 04.00 น. แต่การจำหน่ายเหล้า-เบียร์ ก็ยังทำได้ถึงแค่เที่ยงคืนอยู่ดี
และเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ปลดล็อกให้สามารถขายเหล้า-เบียร์ในวันพระใหญ่ได้ 5 สถานที่ คือ ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ, การขายในสถานบริการ, การขายในสถานบริการที่เปิดในพื้นที่ท่องเที่ยว, การขายในโรงแรม และการขายในสถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ และคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน
แต่ช่วงเวลาห้ามขาย ช่วงเวลาอนุญาตจำหน่าย ยังคงเป็นตามเดิม คืออนุญาตขาย 11.00-14.00 น. และ 17.00-00.00 น. เพราะจะต้องแก้ไขกฎหมายก่อน
และเมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 365 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งฉบับใหม่นี้มีการปลดล็อกในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการทำโฆษณา การถ่ายเหล้า-เบียร์ แชร์ลงโซเชียล
สำหรับสาระสำคัญในร่างกฎหมายใหม่ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.พรรคเพื่อไทย สรุป 5 สาระสำคัญไว้บนเฟซบุ๊ก ดังนี้
#คณะกรรมการ
– เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและสภาเยาวชน ในคณะกรรมการควบคุม
– ส่งเสริมบทบาท คกก.ในระดับจังหวัด และให้นายก อบจ. ร่วมเป็นรองประธาน
#การควบคุม
– ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ และคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคืนอำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดเวลา และสถานที่ห้ามขาย
– เพิ่มการกำกับดูแล ลดการขายให้เยาวชนและผู้อยู่ในภาวะมึนเมา
#การโฆษณา
– แยกออกมาเป็นบทเฉพาะ
– เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้ หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า
– ให้ผู้ประกอบการสามารถประชาสัมพันธ์ ชื่อ และรายละเอียดสินค้าได้มากขึ้น โดยต้องไม่เป็นการเชิญชวนให้ดื่ม หรืออวดอ้างสรรพคุณ
– ห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราเสมือนมาโฆษณา โดยสื่อให้เข้าใจว่าเป็นโฆษณาแอลกอฮอล์
#การบำบัดฟื้นฟู
– ขยายกรอบผู้ที่สามารถได้รับการบำบัดฟื้นฟู จากเพียงผู้ติดแอลกอฮอล์ เป็นผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– ให้อำนาจหน่วยงานในการขอการสนับสนุนงบประมาณ หรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น
#บทกำหนดโทษ
– ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเลือกใช้มาตรการตักเตือน แทนการบังคับใช้บทลงโทษทางอาญาหรือทางปกครองได้
– เพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัย ในกรณีความผิดที่ไม่รุนแรง
– แยกโทษการโฆษณาของประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่เท่าทันกฎหมาย ออกจากโทษของผู้ประกอบการ ให้มีเพดานโทษที่น้อยกว่า
– เพิ่มโทษของกรณีการขายสุราให้เยาวชน
– เพิ่มอำนาจในการสั่งปิด ระงับใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่กระทำผิดต่อเนื่องหรือร้ายแรง
ขณะที่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคประชาชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุใจความสำคัญของเรื่องที่ได้รับการแก้ไขไว้ ดังนี้
- มีการผ่อนปรนให้ขายในสถานที่ของทางราชการได้ตามที่คณะกรรมการจังหวัดเห็นชอบ (อาจจะเป็นครั้งคราว เช่น การจัดงาน OTOP)
- เวลาการขายช่วง 14.00-17.00 น. ที่เคยถูกห้ามไว้โดยประกาศของคณะปฏิวัติได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้
- กวดขันส่งเสริมให้ร้านค้ามีการตรวจสอบอายุและระดับความมึนเมาของผู้ซื้อให้เข้มงวดมากขึ้น
- ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติได้แล้ว (กฎหมายเพื่ออนาคต)
- ดื่มในสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
- ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ได้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด
ร่างกฎหมายใหม่ โฆษณาได้ แต่ “ยังไม่เริ่มใช้”
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ใน กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เปิดเผยว่า การพิจารณามาตรการในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ในมาตรา 32 เป็นเพียง 1 มาตราในร่างกฎหมาย ซึ่ง กมธ.ฯ เห็นชอบเป็นมติเอกฉันท์ แต่ไม่ได้แปลว่ากฎหมายสามารถออกมาบังคับใช้ได้เลย ดังนั้น ขณะนี้ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดิม จนกว่ากฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้
ส่วนโทษทางกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจาก สส. จะส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณาอีกขั้น ก่อนที่จะส่งกฎหมายไปยังราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ใน 60 วันหลังประกาศ
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.99 ได้ที่ https://youtu.be/k4NpNykRl14
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ