
รองศาสตราจารย์เจษฎา ขอร้องนายกฯผ่านเฟซบุ๊ก เร่งลงนามสั่งย้ายอุเทนถวาย เนื่องจากชาวบ้านเดือดร้อน ชี้มีข้อยุติทางกฎหมายมานานแล้ว แต่ไม่ยอมย้ายไปสักที
จากกรณีนักศึกษาช่าง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันและกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย ยกพวกตีกันภายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านปทุมวัน ทำให้มีนักศึกษาถูกแทงบาดเจ็บ ขณะที่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการวิ่งหนีจ้าละหวั่น หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ประเด็นการทะเลาะวิวาทของ “เด็กช่างปทุมวัน-อุเทนถวาย” ถูกยกมาพูดถึงอีกครั้ง
แม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาไปหลายคราจากเพียงการสู้เพื่อศักดิ์ศรีของเด็กช่างทั้งสองฝ่าย “สั่งย้ายอุเทนถวาย” หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายเสนอ เนื่องจากสถาบันของทั้งสองอยู่ห่างกันเพียงแค่ 1.2 กิโลเมตร การเดินทางไปมาที่ง่ายและไว ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทลากยาวมานานหลายสิบปี นอกจากนั้นยังทำให้ประชาชนที่อาศัยใกล้เคียงเดือดร้อน และหวาดหวั่นในการใช้ชีวิตประจำวัน
ล่าสุด รองศาสตราจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ขอให้นายกฯสั่งย้ายอุเทนถวายตามข้อยุติทางกฎหมาย ซึ่งหากทางผู้บริหารไม่ทำตามก็จะมีความผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา ข้อความระบุว่า
“ขอท่านนายกฯอิงค์ กรุณาลงนามคำสั่งย้ายอุเทนถวายเถอะครับ มันจบทุกขั้นตอนแล้ว ก็ยังดื้อ ไม่ยอมไปซักที ชาวบ้านเดือดร้อน
ขอชี้แจงเพิ่มเติมหน่อยครับ ว่าประเด็นข้อพิพาทระหว่างจุฬาฯกับอุเทนถวายนั้น ได้ข้อยุติทางกฎหมายมานานแล้ว
ไม่ว่าจะระดับของคณะกรรมการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐ หรือในศาล หรือแม้แต่การถวายฎีกา ก็ได้คำสรุปว่า อุเทนถวายต้องคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ (ซึ่งจุฬาฯมีแผนในการใช้เป็นพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่เป็นพื้นที่หารายได้อย่างที่มีการโจมตี)
แต่เนื่องจากอุเทนถวายไม่ยอมย้ายออกตามข้อตกลง ก็ได้มีการร้องเรียนขึ้นไปเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับของอัยการสูงสุด ผ่านกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และตอนนี้เรื่องไปถึงระดับท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงเหลือเพียงแค่ท่านนายกฯ มีคำสั่งลงมาโดยตรง
ซึ่งถ้าสั่งมาแล้วยังไม่ทำตามอีก ก็ถือว่าผู้บริหารของสถาบันมีความผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา
แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ยอมย้ายกันอยู่ดี มักจะมีการระดมพลออกมาประท้วง ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน
(เพิ่มเติม) คือตามขั้นตอนในการยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐเนี่ย เขาจะไม่ให้หน่วยงานรัฐมาฟ้องร้องศาลสู้กันเอง แต่ให้ผ่านกลไก ‘คณะกรรมการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐ’ ซึ่งพอมีคำตัดสินแล้ว แต่ไม่ทำตาม ก็ต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละขั้นตอนเสนอขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ก็ส่งผ่านกระทรวงต่าง ๆ จนไปถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว
ส่วนที่มีการฟ้องร้องศาล ที่ผ่านมาคือทางฝั่งอุเทนถวายไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งสุดท้ายก็มีคำสั่งยืน ให้ทำตามคณะกรรมการตัดสินไว้”