ประกาศใช้ กฎหมาย (แก้ไข) ใหม่ ข้อห้าม “ลงโทษบุตร” บังคับใช้แล้ว

ratchakitcha

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 กรณีทำโทษบุตร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม ระบุชัดต้องไม่เป็นการกระทำ “ทารุณกรรม” หรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 142 ตอนที่ 14 ก เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่า โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองว่ามีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนนั้น มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน

อีกทั้งพบว่าการลงโทษนั้นหลายกรณีกลับกลายเป็นการกระทำในลักษณะทารุณกรรมหรือทำร้ายอันส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของบุตร เป็นการเฆี่ยนตีบุตร หรือทำโทษด้วยวิธีการอื่นอันเป็นการด้อยค่า ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของบุตรและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดหรือพฤติกรรมของบุตรที่จำเป็นต้องว่ากล่าวสั่งสอน

ประกอบกับการปรับแก้ไขสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาดีข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 8 (ค.ศ. 2006) (General Comment No. 8 (2006) The Right of the Child of Protection from Corporal Punishment and other Cruel or Degrading Forms of Punishment) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563) อีกด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ADVERTISMENT

สาระสำคัญ

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป)

ADVERTISMENT

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 1567 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ”