ประกาศเดินหน้า ‘ร่างจริยธรรมอินฟลูเอนเซอร์’ ดันมาตรฐานคุ้มครองบริโภค

องค์กรผู้บริโภค ประกาศเดินหน้า “ร่างจริยธรรมของอินฟลูเอนเซอร์” ดันมาตรฐานค้มครองบริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยเทรนด์ยุคปัจจุบันที่โลกออนไลน์สร้างความโด่งดังให้ Influencer ทำให้คนกลุ่มนี้ยึดเอาเครื่องมือที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายนำมาสร้างเทรนด์ ชี้นำความคิด บางคนถึงขั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ เช่น การรีวิวขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้างรีวิว หรือเจ้าของสินค้าที่เป็นคนดังลงมือรีวิวด้วยตัวเอง แต่ประเด็นด้านความโปร่งใสของข้อมูลและความรับผิดชอบต่อสังคมยังเป็นข้อกังขา

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคบอกว่า การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้มักเห็นบางคนชี้นำแนวคิดหรือความเชื่อบางอย่างที่หมิ่นเหม่ เช่น การปกปิดข้อมูล การให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอาง แต่เพราะความเชื่อใจจึงทำให้ผู้บริโภคถูกโน้มน้าวได้ง่าย จึงละเลยการตรวจสอบเรื่องคุณภาพความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์ที่จะใช้

จากข้อมูลที่เห็นได้ชัดเจน ล่าสุดนั่นคือการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครีมกันแดด 20 รายการ สุ่มซื้อจากคนดังในโลกออนไลน์ที่เป็นเจ้าของ และพรีเซ็นเตอร์ หลังจากนำเข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการ จนนำมาสู่การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ซึ่งพบว่าบางยี่ห้อคุณภาพของสินค้าไม่ตรงกับข้อมูลตามที่ระบุบนฉลาก เหตุนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียม “ร่างจริยธรรมของอินฟลูเอนเซอร์” เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการคุ้มครองบริโภค

(สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครีมกันแดด 20 รายการ สุ่มซื้อจากคนดังในโลกออนไลน์เป็นเจ้าของ/พรีเซ็นเตอร์ https://ffcthailand.org/news/sunscreeninfluencer )

ด้านนฤมล เมฆบริสิทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคบอกว่า ช่วงที่ไทยยังไม่มีกฎหมายดูแล ‘อินฟลูเอนเซอร์’ โดยตรง ทำให้ขณะนี้มีกฎหมายควบคุมทางอ้อมอยู่ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560, พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ที่เพิ่มกำหนดนิยาม ให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งครอบคลุมถึงพรีเซ็นเตอร์ที่โฆษณาอาหาร จะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาด้วย อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์จึงจำเป็นต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ADVERTISMENT

รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหา อาจต้องศึกษาจากตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่ผิดกฎหมาย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อมูลล่าสุดจาก บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาด้านการตลาด เปิดข้อมูลเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ประเมินจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2568 จะพุ่งแตะเฉียด 3 ล้านราย https://mgronline.com/business/detail/9680000012908

ADVERTISMENT

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอประกาศสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า รวมถึงป้องกันสิทธิผู้บริโภค ด้วยการกำหนด “ร่างจริยธรรมของอินฟลูเอนเซอร์” ที่อาจจะต้องปรับตัวตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และการใส่ใจผลกระทบระยะยาวต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม