
สรุปแนวทาง กสทช. ปรับรูปแบบโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ให้ทุกสถานีโทรทัศน์เชื่อมสัญญาณจากสถานีแม่ข่ายทันที หากเกิดภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน พร้อมมอบหมาย NBT เป็นแม่ข่าย นำเสนอความคืบหน้า การแถลงสถานการณ์จากรองนายกฯ-รัฐมนตรี-หน่วยงานรัฐ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมการแก้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยพิบัติในทุกมิติของประเทศ ได้ขอให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไปกำหนดแนวทางการประกาศสำคัญผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) และวิทยุกระจายเสียง ภายใต้อำนาจของ กสทช.
หลังจากวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้บางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ไม่ทราบแนวทางในการปฎิบัติในกรณีเกิดเหตุสำคัญของประเทศ ทำให้บางสถานีไม่ได้ตัดสัญญาณเข้าการประกาศ สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ (กสทช.) รายงานสรุปผลการประชุมทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติการถ่ายทอดสด กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ ฉุกเฉิน หรืออื่น ๆ ที่สำคัญของชาติ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี และสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ โดยนายไตรรัตน์กล่าวว่าที่ประชุมได้สรุปข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
1. กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง ฉุกเฉินเร่งด่วนทันที หรือเหตุอื่น ๆ ของชาติ การแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีดำเนินการ หรือโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้ทุกสถานีโทรทัศน์ต้องเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดสดพร้อมกันจากสถานีแม่ข่ายทันที เมื่อมีการขึ้นเพจหน้าจอว่า “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.)”
2. กรณีเหตุภัยพิบัติ หรืออื่นใด เมื่อระดับความรุนแรงลดลง การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่สำคัญต่อเนื่องโดย “นายกรัฐมนตรี” ให้สถานีเชื่อมโยงสัญญาณสดโดยพร้อมเพรียงกันเมื่อมีการขึ้นเพจว่า “นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์” ทั้งนี้แม่ข่ายจะต้องมีการแจ้งเวลาล่วงหน้าให้สถานีต่าง ๆ ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 10-15 นาที เว้นแต่มีเหตุความจำเป็นให้แจ้งได้โดยทันที
3. กรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ ความคืบหน้าการดำเนินงาน หรือเรื่องสำคัญอื่น ๆ โดย “รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานรัฐ ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ให้ถ่ายทอดสด โดยสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์อื่น ๆ สามารถเชื่อมสัญญาณหรือนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อในรูปแบบของข่าว หรือสื่ออื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม เมื่อมีการขึ้นเพจที่หน้าจอว่า “สำนักนายกรัฐมนตรี”
ทั้งนี้ การแถลงการณ์ตามข้อ 3 จะกำหนดประเด็นสำคัญในการแถลงการณ์ขึ้นก่อนในภาพรวม และกระชับประเด็นเพื่อให้ประชาชนรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบในแนวทางของ กสทช.แล้ว โดยขอให้ยึดถือในการปฏิบัติในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือเรื่องอื่นใดที่มีความสำคัญของชาติ ที่จะต้องแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน
ทรท.คือใคร ?
สำหรับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) แรกเริ่มเดิมที เริ่มต้นจากการทำงานร่วมกันของ 2 สถานีโทรทัศน์ของรัฐ ในช่วงปี พ.ศ. 2500-2510 คือ ช่อง 4 บางขุนพรหม และ ททบ.7 ในการถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญและการแข่งขันกีฬาของชาติ
ก่อนที่เวลาต่อมา ที่ประชุมผู้บริหารของทั้ง 2 ช่อง มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการรวมตัวกันในวงการโทรทัศน์ เพื่อปรึกษาหารือจนการดำเนินการจัดการเรื่องต่าง ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ทุกสถานี และมีมติให้จัดตั้งองค์กรขึ้น โดยให้มีคณะกรรมการในส่วนกลาง ประกอบด้วยผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ของทั้ง 3 ช่องหลัก คือ ช่อง 4 บางขุนพรหม, ททบ.7 (ททบ.5 ปัจจุบัน) ช่อง 7 สี และไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งเข้าร่วมในเวลาต่อมา และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในนาม “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย”
บทบาทหลักของ ทรท. ประกอบด้วย
- ร่วมมือกันถ่ายทอดสดและรับการถ่ายทอดสดทั้งในและต่างประเทศจากรายการสำคัญ ๆ เช่น การถ่ายทอดพระราชพิธี การถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ
- เป็นผู้ประสานงานตกลงค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ จากการถ่ายทอด เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมและให้ผู้ชมได้รับชมการถ่ายทอด (กีฬา) ในราคาและคุณภาพที่เหมาะสม
- เป็นสื่อกลางระหว่างสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน ขจัดและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในสถานีโทรทัศน์แต่ละสถานี โดยไม่ก้าวก่ายการบริหารภายในของแต่ละสถานี
- ร่วมมือสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างสถานีโทรทัศน์
ข้อมูลจาก ส่องสื่อ