เปิดประวัติมณเฑียร เจริญผล-ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการ สตง. ในเหตุตึกถล่ม

ผู้ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คู่สัญญา กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

แม้ว่า นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คนปัจจุบัน จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งในวันที่มีการทำสัญญาว่าจ้าง กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2563

แต่อดีตผู้ว่าการ สตง. ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง คือ นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นผู้ลงนามสัญญาการว่าจ้าง

นายประจักษ์ อดีตผู้ว่าการ สตง.ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 หลังเหตุการณ์ตึก สตง.แห่งใหม่ ถล่มผ่านไป 2 วัน “ยืนยันได้ว่า การว่าจ้างดังกล่าวทำโปร่งใส ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายในการประมูลการก่อสร้างอาคารของรัฐ ด้วยวิธี E-bidding ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลาง และเสนอมาราคาต่ำสุด”

“จึงมีการตกลงสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้างตึก สตง. หลังเกิดเหตุการณ์ก็รู้สึกตกใจ เสียใจมาก ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผมก็พร้อมที่จะชี้แจงกับคณะกรรมการที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นมา เรียกมาเมื่อใดก็พร้อมไปชี้แจงทันที เพราะทุกอย่างทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่างในการประมูล ก็พร้อมให้ข้อมูลตอบคำถามทุกอย่าง แต่ตอนนี้คงรอให้ สตง.มีการแถลงข่าวหรือออกเอกสารข่าวชี้แจงอย่างเป็นทางการออกมาก่อน” อดีตผู้ว่าการ สตง.กล่าว

ความฝัน อดีตผู้ว่าการ สตง. มีตึกใหม่เป็นของตัวเอง

ก่อนพ้นจากตำแหน่ง นายประจักษ์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา กรณีการหาที่สร้างอาคารแห่งใหม่ของ สตง. เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า

ADVERTISMENT

“เราไม่เคยมีสํานักงานเป็นของตัวเอง เราเริ่มต้นที่จะสร้างสํานักงานตัวเองตั้งแต่ปี 2551-2552 สมัยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ก็หาสถานที่ออกแบบต่าง ๆ ซึ่งมีประเด็นปัญหามายาวนานจนไม่รู้จะเอาตรงไหนอะไรยังไง ก็มาถึงผมก็ต้องมาตัดสินใจว่า เอาแบบไหนยังไง จะเป็นแบบไหนยังไง ก็แบบเก่ามันใช้ไม่ได้ ซึ่งเราก็เอาแบบเก่าไปหาที่อธิบดีกรมธนารักษ์ และก็บอกว่าไม่มีที่ไหน เราก็บอกว่าเอาแบบไปหาที่ เขาก็บอกว่าต้องได้ที่ก่อนแล้วออกแบบ มันก็หาไม่ได้สักที ก็ต้องตัดสินใจว่า”

“วันนี้เราหาที่แล้วออกแบบใหม่ เราก็ต้องยอมทิ้งตัวแบบเดิมไป ไม่งั้นก็จะไม่ได้สักที ไปทางจังหวัดไหนก็ไม่รู้ที่จะรองรับได้หรือไม่ มันก็เป็นการตัดสินใจว่าเราต้องมีบ้านของเราที่เป็นของตัวเองสักหลังนึง ก็ต้องตัดสินใจว่า โอเค ออกแบบใหม่ เป็นที่ตรงสวนจตุจักร แต่เป็นที่เช่า ซึ่งต้องเสร็จ 31 ธ.ค. 2566 แต่ตอนนี้ก็ต้องรออีก18 เดือน”

ADVERTISMENT

“ก็อยากทําให้เสร็จในช่วงเวลาที่ผมดํารงตําแหน่งอยู่ จริง ๆ ผู้รับจ้าง ตอนเซ็นสัญญา ผู้รับจ้างก็ถามผมครบวาระเมื่อไหร่ ผมก็บอก 26 ก.พ. 2567 เขาก็บอกว่าสัญญามัน 31 ธ.ค. 2566 เขาก็บอกว่ามันทันแต่ว่าด้วยสถานการณ์ ก็คงจะเป็น 18 เดือนต่อจากนี้ไป ผมประชุมล่าสุดก็ต้องมา สัญญาลูกผู้ชายกันกับผู้รับจ้างว่าจะได้เมื่อไร”

ทั้งนี้ อาคาร สตง. แห่งใหม่ ลงนามก่อหนี้ผูกพันสัญญา เมื่อวันที่ 23 พฤศิกายน 2563 จ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้าง บริเวณถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร ในวงเงิน 2,136 ล้านบาท

และว่าจ้าง กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จํานวนเงิน 74,653,000 บาท โดยขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2569

ประจักษ์ บุญยัง

ประวัติ นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการ สตง.

นายประจักษ์ บุญยัง ได้รีบเลือกและประกาศผลเป็นทางการ ให้เป็นผู้ว่าการ สตง. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) สาขาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปริญญาโทพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต ทางพัฒนาการเศรษฐกิจ สาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ผ่านการอบรม หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 57) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, อบรมในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.รุ่นที่ 4) สถาบันวิทยาการพลังงาน, หลักสูตรกฎหมายปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กปส.รุ่นที่ 1) สำนักงานศาลปกครอง, หลักสูตรนักบริหารการตรวจเงินแผ่นดินระดับสูง (นตส.รุ่นที่ 1) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหลักสูตร Public work Audit, JICA ประเทศญี่ปุ่น

ประวัติการทำงาน เป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 9 ชช. สำนักงานตรวจสอบดำเนินงานที่ 1, ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบดำเนินงานที่ 1 และผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 2 จากนั้นเป็นผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1

มณเฑียร เจริญผล

ประวัติ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. คนปัจจุบัน

นายมณเฑียร เจริญผล ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ว่าการ สตง. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 แทน นายประจักษ์ บุญยัง ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระดำรงตำแหน่ง

นายมณเฑียร เจริญผล ผ่านการดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ปี 2543-2544 และ 2556-2560), อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (อนุ คตช.), กรรมการสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, อนุกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช., อนุกรรมการ ปปง. สำนักงาน ปปง., ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 (ระดับ 10) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, กรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กระทรวงการคลัง/สำนักงานอัยการสูงสุด/รัฐสภา

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองงานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของรัฐ, อนุกรรมการข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อก.ตง.), กรรมการความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง, กรรมการพิจารณารางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศ ในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง, อนุกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงินรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กรรมการประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ, กรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ, กรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วุฒิสภา, ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร, ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์การตรวจเงินแผ่นดิน จำกัด, ประธานกรรมการสวัสดิการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

เกียรติประวัติ

ได้รับเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปี 2544, เหรียญเชิดชูเกียรติ จากสถาบันพระปกเกล้า ปี พ.ศ. 2552 และ 2556, รางวัลกัลยาณมิตรกรมบัญชีกลาง ปี 2559, ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) ของ สตง. และผู้บริหารข้อมูลระดับสูง (Chief Data Officer : CDO) ของ สตง.

ประวัติการศึกษานายมณเฑียร เจริญผล

-ปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
-นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
-ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฏหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.58)
-หลักสูตรกระบวนการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (บยส.18)
-หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.3)
-หลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.ส)