
อาจารย์จุฬาฯ ตั้งวงเสวนา ถอดบทเรียนประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อ 28 มีนาคม 2568 สู่การรับมือธรณีพิบัติภัยในระยะยาว และมีความจริงจังมากขึ้น
เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งประเทศไทยได้รับรู้แรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีหลายอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ได้รับความเสียหายในเชิงสถาปัตยกรรมของอาคาร และยังคงต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวที่ไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และนำไปสู่ความกังวลในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเกิดเหตุแผ่นดินไหวซ้ำ การเกิดอาฟเตอร์ช็อก จนถึงความกังวลในการอยู่อาศัยบนตึกสูง
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 32 “จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว : เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร ?” โดยระดมอาจารย์จุฬาฯ ทั้งด้านธรณีวิทยา วิศวกรรมโยธา และกฎหมาย เพื่อมองการเตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต
ทำความเข้าใจ “แผ่นดินไหว”
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ฉายภาพความแตกต่างของสิ่งที่เรียกว่า ‘แผ่นดินไหว’ กับ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ โดยแผ่นดินไหว คือ ตัวหลักของเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย (Main Shock) ส่วนอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) เป็นลูกของแผ่นดินไหว กล่าวคือ ขนาดจะไม่ใหญ่กว่าแผ่นดินไหวหลัก และไม่ค่อยมีผลกระทบต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวมีอยู่ 2 ลักษณะหลัก คือ สลายรอยช้ำ ความรุนแรงค่อย ๆ ลดลง หรือกระตุกรอยเลื่อนอื่น ให้เกิดการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า 80 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นการสลายรอยช้ำ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นการกระตุกรอยเลื่อนอื่น
ประเด็นถัดมา คือ การเกิดเหตุการณ์น้ำในสระว่ายน้ำบนคอนโดฯ High-Rise กระฉอก หรือเกิดการสั่นไหวของแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำปิดนั้น ศ.ดร.สันติกล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ “Seiche” ไม่เป็นอันตรายเท่าสึนามิ ลักษณะดังกล่าวเป็นลูกของแผ่นดินไหว แต่ความอันตรายยังน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสึนามิ และโอกาสเกิดสึนามิในไทย สามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น
ส่วนประเด็นเรื่องคำเตือนให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวหรืออาฟเตอร์ช็อก โดยระบุวัน ว. เวลา น. ชัดเจนนั้น ศ.ดร.สันติให้คำอธิบายว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อาจประเมินในทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับพื้นที่อ่อนไหวก่อนได้ แต่หากมีการแจ้งเตือนแบบมีระบุเวลาด้วย ให้พึงระลึกเสมอว่า นั่นคือข่าวปลอม (Fake News) เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
“ในทางวิทยาศาสตร์สามารถระบุพื้นที่อ่อนไหวที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งมีหลากหลายวิธีในการประเมิน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อใด หากมีข้อมูลเชิงเวลาของแผ่นดินไหวออกมาสามารถตีความได้ว่าเป็นเท็จทันที” ศ.ดร.สันติกล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเกิดแผ่นดินไหว โดยประเทศไทย มีรอยเลื่อนมีพลังอยู่ 16 รอยเลื่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ คือ
-
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก
- กลุ่มรอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่
- กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง
- กลุ่มรอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน
- กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์
- กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี
- กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก
- กลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา
- กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต
- กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแห พาดผ่าน จ.เชียงใหม่
รอยเลื่อนเหล่านี้มีความสำคัญในเชิงการวางแผนเชิงพื้นที่และโครงสร้างเมือง เพื่อลดการเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ยังมีรอยเลื่อนอีก 3 แบบที่ต้องเฝ้าระวัง คือ รอยเลื่อนซ่อนเร้น (มองเห็นไม่ชัดเจนแต่เคยเกิดขึ้นแล้ว) รอยเลื่อนตาบอด (ไม่มีการแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน) และรอยเลื่อนนอกสายตา (ยังไม่ยืนยันว่าเป็นจริงหรือไม่) ซึ่งอาจมีความอันตรายไม่แพ้กับรอยเลื่อนมีพลังที่ทำการสำรวจไปก่อนหน้านี้
ส่วนโอกาสที่ประเทศไทย จะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำนั้น ศ.ดร.ปัญญาระบุว่า มีโอกาสเกิดอีกแน่ แต่ต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ไหน ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน

สำรวจรอยร้าวตึก หลังแผ่นดินไหว
รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ในการออกแบบอาคารนั้น เดิมทีมีการออกกฎกระทรวง มาตั้งแต่ปี 2540 บังคับใช้ใน 10 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินไหว เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ฯลฯ และกฎกระทรวง ปี 2550 ซึ่งเพิ่มจังหวัดในการบังคับใช้ รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยใช้มาตรฐาน มยผ.1302 ซึ่งอิงจากมาตรฐานสากลของสหรัฐ ทำให้อาคารที่สร้างหลังปี 2550 มีความมั่นใจในการต้านทานแผ่นดินไหวได้ดี
ส่วนอาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2550 แม้ไม่ได้ออกแบบโดยตรงเพื่อแผ่นดินไหว แต่ก็มีความสามารถในการรับแรงด้านข้างจากลม ซึ่งช่วยให้สามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 โดยเฉพาะอาคารที่มีความสำคัญต่อภาวะฉุกเฉิน ควรได้รับการประเมินเพิ่มเติม
สำหรับความเสียหายส่วนใหญ่ของบรรดาอาคารสูง จากเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา พบเป็นความเสียหายในเชิงสถาปัตยกรรม มีเพียงบางส่วนที่เจอความเสียหายในระดับโครงสร้าง ซึ่งความเสียหายเชิงสถาปัตยกรรม เช่น รอยร้าวบนผนัง ยังสามารถซ่อมแซมได้
รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง มีการจัดทำคู่มือประชาชน เพื่อการสำรวจรอยร้าวที่เกิดขึ้นบนอาคารด้วยตัวเอง พร้อมทั้งอธิบายว่า “เสา” คือส่วนที่หากเกิดรอยร้าว จะมีความน่ากังวลมากที่สุด รองลงมาคือ คาน และผนัง ตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้จะมีคู่มือในการสำรวจรอยร้าวเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ แต่การให้วิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายย่อมดีกว่า
ขณะที่ประเด็นการเสริมความแข็งแรงของอาคาร โดยเฉพาะอาคารเก่า ก่อสร้างมานานแล้วนั้น รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ระบุว่า สามารถทำได้ แต่ต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงเพื่อประเมินก่อน แต่หากจะใช้เทคโนโลยีเสริมความแข็งแรง หรือรองรับแผ่นดินไหว แบบที่มีใช้ในไต้หวันหรือญี่ปุ่นนั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางวิศวกรรมของประเทศไทย ว่าจะสามารถทำให้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน ราคาหรือต้นทุนถูกลง ไม่กระทบต่อต้นทุนการสร้างอาคารใหม่ได้หรือไม่

สำหรับประเด็นเชิงกฎหมาย การจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น รศ.ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคาร ต้องสำรวจเหตุตามพฤติการณ์ว่าเกิดจากภัยธรรมชาติหรือไม่ ? และเมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติ จะมีวิธีการเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายแตกต่างกัน
หากอาคารนั้นสร้างเสร็จแล้ว เข้าอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบกับนิติบุคคลอาคารชุด ว่าได้มีการทำประกันคุ้มครองความเสียหายไว้หรือไม่ แล้วครอบคลุมส่วนไหน หรือหากเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด มีการทำประกันคุ้มครองไว้แล้ว ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่าครอบคลุมความเสียหายส่วนไหนบ้าง
ส่วนกรณีที่ยังสร้างไม่เสร็จ ต้องดูข้อตกลงการจ้าง และหากผู้ว่าจ้าง-ผู้รับจ้าง เป็นเอกชนทั้งคู่ จะต้องมีการคุยกัน แต่หากเป็นสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ในสัญญาจ้างของรัฐมักระบุชัดเจนว่า ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด ยกเว้นเป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.อังคณาวดีให้คำแนะนำสำคัญว่า หลักฐานทุกอย่างควรจัดเก็บไว้ให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย

รับมือ ‘แผ่นดินไหว’ จริงจัง
การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเผชิญการรับรู้แรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ ทำให้ผู้คนค่อนข้างกังวลในเรื่องการรับมือ และการอพยพ
ศ.ดร.สันติให้คำแนะนำหลัก ๆ ว่า ก่อนเกิดเหตุต้องสร้างความมั่นใจว่าอาคารนั้นมีความแข็งแรง และเมื่อเกิดภัย แนะนำให้หลบใต้โต๊ะ แล้วอพยพเมื่อเริ่มสงบแล้ว และควรเปิดประตูไว้ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวงกบประตู และเพื่อให้อพยพได้โดยง่าย
ส่วนเรื่องการซักซ้อมแผนอพยพจากเหตุภัยพิบัตินั้น ศ.ดร.สันติแนะนำว่า ควรเป็นการซ้อมที่จริงจังทุกปี และซ้อมให้เป็นกิจวัตร เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ได้
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำว่า ข้อพิสูจน์หนึ่งเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติ คือการที่หลังจากนี้ ทุกคนกลับมาใช้ชีวิต กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ส่วนสิ่งที่เป็นผลกระทบนั้น ก็ควรเป็นบทเรียน เป็นสิ่งที่ปรับแก้ อีกทั้งยังต้องสร้างความมั่นใจ ความอุ่นใจในอาคารที่ใช้งาน ว่ามีความปลอดภัย
ขณะที่ รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ระบุว่า ในโลกวันนี้ที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย การเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยลดความตื่นตระหนกได้ อีกทั้งประเทศไทยมีมาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่บังคับใช้อยู่แล้ว หากทำตามกติกา เชื่อมั่นว่าจะมีความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาอาจหละหลวมไปบ้าง เนื่องจากยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ภัยพิบัติลักษณะนี้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มข้นพอด้วย
การเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ เชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่า ประเทศไทยก็เกิดแผ่นดินไหวได้
นอกจากนี้ รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ ยังให้มุมมองเกี่ยวกับตลาดคอนโดฯ ซึ่งมีความกังวลในเรื่องภัยพิบัติที่อาจกระทบได้ โดยระบุว่า คอนโดมิเนียม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับชุมชนเมือง แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การยกระดับให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น
ติดตามรายละเอียดการเสวนาฉบับเต็ม ที่นี่