
เช็กลิสต์ของในกระเป๋าฉุกเฉินต้องมีอะไรบ้าง เตรียมพร้อมเพื่อเอาตัวรอดยามเกิดภัยพิบัติ
แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยบ่อยนัก ประกอบกับมั่นใจจากปากผู้เชี่ยวชาญว่า เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่ได้เกิดกับเราขึ้นอีกง่าย ๆ หรือบ่อยครั้ง แต่ภาพจำ และความรู้สึกในเกิดขึ้นระหว่างที่เรากำลังเอาตัวรอดยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน
รวมถึงการวิตกกังวลถึงความปลอดภัยที่หลายคนเองก็ยังหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุไม่ปลอดภัย พร้อมตั้งคำถามว่า เราจะสามารถเอาตัวรอดจากมันไปได้อย่างไร ในช่วงวินาทีสำหรับที่ไม่มีใครคาดคิด บางคนหยิบโทรศัพท์ ของมีค่า หรือแม้แต่ของกิน โดยที่ไม่รู้ว่าจะสามารถขึ้นไปเอาของที่เหลือได้หรือเปล่า
ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยมักจะคุ้นชินกับคำว่า “ถุงยังชีพ” หรือ Survival Kit ถุงที่รวมเอาของใช้จำเป็นในการดำรงชีวิตระหว่างที่กำลังประสบภัยกับเหตุการณ์น้ำท่วมของต่างจังหวัดหรือผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น นอกจากเราจะเริ่มศึกษาวิธีการเอาตัวรอดที่ถูกต้องแล้ว เราก็ควรที่จะเริ่มจัดเตรียมถุงยังชีพส่วนตัวเพื่อตัวเอง และคนในครอบครัว สำหรับการรับมือเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราไม่ทันได้เตรียมตัว
ประชาชาติธุรกิจ พาไปรู้จักถุงยังชีพ หรือ “กระเป๋าเอาตัวรอด” ที่เราสามารถเตรียมได้เองนั้นควรมีอะไรบ้าง
ถุงยังชีพ หรือกระเป๋าที่บรรจุของใช้จำเป็นต่าง ๆ สำหรับดำรงชีวิต โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐาน ในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติและยังรอความช่วยเหลือ ในหลายสถานการณ์การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยโดยตรงได้ทันที
โดยทั่วไปแล้วสิ่งของในถุงยังชีพเบื้องต้นประกอบไปด้วยอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่มสะอาด ยาสามัญประจำบ้าน ชุดปฐมพยาบาล กระดาษชำระ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน รวมถึงผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง
ถุงยังชีพมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อเกิดเหตุจึงสร้างความเสียหายหรือมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ผู้คนต้องลี้ภัยไปพื้นที่อื่น ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ สิ่งของบรรเทาทุกข์คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยหรือผู้รอดชีวิตได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
รายการสิ่งของที่จำเป็น
อาหารและเครื่องดื่ม
- น้ำดื่มอย่างน้อย 2-3 ขวด
- อาหารแห้ง หรืออาหารกระป๋องพร้อมทาน
ของใช้ประจำวัน
- เสื้อผ้าสำรองสำหรับ 2-3 วัน และผ้าห่มแบบพกพาง่าย
- ผ้าอนามัยหรือของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก
- ถุงพลาสติก สำหรับเก็บขยะหรือกันน้ำ
- ไฟฉาย
- หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ป้องกันฝุ่นควันหรือเชื้อโรค
- เงินสดใช้ในกรณีที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ทำงาน
ยาประจำตัวหรือยาสามัญประจำบ้าน
- ยารักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่แล้วที่ห้ามขาด อาทิ ยารักษาโรคความดัน หรือเบาหวาน และควรเตรียมยาให้เพียงพออย่างน้อย 3-7 วัน
- และยาสำหรับการเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน อาทิ ยาแก้ปวดหัว แอลกอฮอล์ เบตาดีน ปลาสเตอร์ ยาดมสมุนไพร ยาแก้ปวดท้อง เกลือแร่ ยาแก้แพ้ น้ำเกลือ ผ้าพันแผล และยาสำหรับโรคผิวหนัง เป็นต้น
เครื่องมืออเนกประสงค์
- อุปกรณ์ช่วยในการส่งสัญญาณ หรือช่วยให้การตัดสิ่งของ อาทิ นกหวีด, กระจก, มีดพับสวิส, กรรไกรขนาดเล็ก, เชือกเส้นเล็ก
- วิทยุพกพา แบบใช้ถ่านหรือพลังงานมือหมุน เพื่อรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ
เอกสารสำคัญ
- สำเนาเอกสาร เช่น บัตรประชาชน, พาสปอร์ต, ทะเบียนบ้าน ใส่ไว้ในของที่สามารถกันน้ำได้ เพื่อใช้ยืนยันตัวตน
ข้อมูลจาก realestate japan