
สภาผู้บริโภค แนะ กสทช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มให้รอบด้านก่อนประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ พร้อมเสนอให้เพิ่มเงื่อนไขด้านการเตือนภัยพิบัติในใบอนุญาต หวั่นการประมูลกระทบการแข่งขันและสิทธิผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงทุกกลุ่ม ก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ในย่านความถี่ 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz ซึ่งปัจจุบัน กสทช. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2568
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นสำคัญประการที่สภาผู้บริโภคจะนำไปเสนอต่อ กสทช. ในงานเวทีรับฟังความคิดเห็นคือข้อเสนอให้ระบุเงื่อนไขการเตือนภัยพิบัติ ให้เป็นข้อบังคับในใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ โดยต้องมีการสำรองคลื่นเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และกำหนดมาตรการด้านเทคนิคที่ชัดเจน เพื่อให้โครงข่ายโทรคมนาคมสามารถรับมือกับภัยพิบัติในยุค 6G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค ยังแสดงความกังวลว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดที่ถูกจำกัด และละเมิดสิทธิของผู้บริโภค

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังตั้งข้อสังเกตถึงการนำคลื่นย่าน 850 MHz ซึ่งใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กำลังจะหมดอายุในเดือนสิงหาคมนี้ มาประมูลพร้อมกับคลื่นอื่น ๆ โดยที่ยังไม่มีแนวทางชัดเจนในการเยียวยาผู้ใช้งานเดิม และไม่มีหลักประกันว่าการประมูลจะนำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม และครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง
“เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว สภาผู้บริโภคเสนอให้ กสทช. พิจารณาขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ หน่วยงานภาครัฐที่ใช้คลื่นของ NT และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ได้มีเวลาพิจารณาและเสนอความเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและยังช่วยสร้างการแข่งขันที่หลากหลายและยั่งยืนในตลาด” นางสาวสุภิญญาระบุ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า การประเมินการเปิดประมูลคลื่นความถี่ ควรทำเฉพาะเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น เพราะการเปิดให้ประมูลคลื่นความถี่หลายคลื่อนพร้อมกันทั้งที่ไม่มีเหตุจำเป็น อาจจะทำให้ “ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง” พร้อมกล่าวเสริมในประเด็นการหมดสัญญาของ NT ว่า NT เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจจึงอาจตีความได้ว่าเป็นบริการสาธารณะประเภทหนึ่ง และหากนำคลื่น NT ไปประมูลอาจกระทบความมั่นคงในยามวิกฤติ กระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องใช้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ทั้งยังเป็นการลดการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมอีกด้วย ดังนั้น กสทช. ควรพิจารณาเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ต้องใช้วิธีประมูลเพื่อให้ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริดภคอย่างแท้จริง
“ภายใต้บรรยากาศตลาดโทรคมนาคมที่มีการควบรวมกิจการระหว่างค่ายมือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ก็ไม่มีหลักประกันเลยว่าจะเกิดการควบรวมที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าอีกหรือไม่ นอกจากนี้ จากการควบรวมครั้งที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการต้องทำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้ได้หลังจากควบรวม แต่จนปัจจุบันก็พบว่าบริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ทำตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วน อย่างเป็นที่ประจักษ์ จึงนำไปสู่คำถามว่า ผู้ประกอบการเหล่านั้นควรมีสิทธิในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้หรือไม่” นายอิฐบูรณ์แสดงความเห็น
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังเรียกร้องให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขการประมูลที่เหมาะสม มีมาตรการจูงใจให้เกิดการแข่งขันที่เอื้อต่อผู้เล่นรายใหม่ และมีแนวทางชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งด้านคุณภาพการให้บริการและราคาหลังการประมูลที่เป็นธรรม เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศอย่างแท้จริง