
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เชื่อยังมีผู้รอดชีวิตแต่โอกาสน้อย เดินหน้าค้นหาสลับรื้อซากตึก ยันยึดตามหลักสากล
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 2 เม.ย.2568 ที่กองบัญชาเหตุการณ์ สำนักงานเขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ แถลงข่าวถึงสถานการณ์การค้นหา ผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า ถือว่าเป็นวันที่ 5 ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น โดยเมื่อคืนใช้วิธีการยกชิ้นปูนออกไปประมาณ 10 ชิ้น รวม 100 ตัน ทำให้เปิดช่องว่างให้กู้ภัยไปสำรวจด้านในพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ร่าง และมีร่างที่ยังไม่สามารถนำออกมาได้อีกประมาณ 14 ร่าง และยังมีตามจุดต่างๆ ที่เริ่มส่งกลิ่นอีกหลายจุด แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะมีชิ้นส่วนเหล็กกีดขวางจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ปรับยุทธวิธีการค้นหาที่พยายามเข้าไปถึงปล่องลิฟต์ทั้งฝั่งเหนือ และใต้ เพราะปัจจุบันเปิดปล่องลิฟต์ด้านหลังไว้ แต่ยังเข้าไปได้ไม่เยอะมาก จึงใช้อุปกรณ์หนัก ใช้แบ็คโฮลุยตัดชิ้นส่วน โดยอีกประมาณ 10 เมตรจะถึงตัวปล่องลิฟต์ ทั้ง 2 ฝั่ง คือซ้าย และขวา
สำหรับการดำเนินการมี 2 ขั้นตอน คือ การช่วยชีวิต และการรื้อถอน โดยสลับกันเข้าทำงานเข้าทำงานกับสุนัข K9 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างการรื้อ และช่วยชีวิตไปด้วย
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ตนได้คุยกับทีมงาน พบว่าประมาณบ่ายโมงที่ผ่านมา ที่ประเทศ เมียนมา เพิ่งเจอผู้รอดชีวิต จึงถือว่ามีโอกาสอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสน้อยลง และต้องไม่โกหกตัวเอง ขณะนี้เริ่มนำเครื่องมือหนักสลับการค้นหา ทีมช่วยชีวิตคอยสแตนบายอยู่ตลอด พร้อมยืนยันเป็นไปตามหลักสากล
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยังได้คุยกับทีมนานาชาติที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี ระบุว่าเคสนี้ เป็นเคสที่ซับซ้อน เพราะเป็นอาคารสูงถล่มลงมาครั้งเดียว เป็นคอนกรีตอีก และมีผู้สูญหายติดอยู่ในอาคารจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ย่อท้อ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ อาจจะไม่ถูกใจบางท่านขอโทษด้วย แต่เป็นการไตร่ตรองร่วมกัน ที่ทีมไทยเป็นผู้นำ เพราะรู้พื้นที่ดี และร่วมกันทีมต่างชาติ ที่ทำงานเต็มที่ตลอด เราเองก็เรียนรู้จากเขา ซึ่งเขาเองก็เรียนรู้จากเรา
อีกทั้ง ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ได้ให้ทีมจิตวิทยาเข้าคุยกับญาติๆ ที่รออยู่ศูนย์พักคอยญาติแล้ว ว่า กระบวนการใช้เครื่องมือหนักไม่ได้หยุดการค้นหา แต่เป็นการใช้เครื่องมือหนักเร่งเปิดทาง ซึ่งต้องบอกกับญาติก่อนที่จะรับรู้ผ่านสื่อ สำหรับการปรับวิธีการดังกล่าว
ส่วนการช่วยเหลือนั้น ยังไม่ได้มีเดตไลน์ว่ากี่วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และการประเมินตามข้อเท็จจริง ส่วนเครื่องสแกนนั้นสามารถสแกนได้ 30 เมตร แต่ไม่ได้แม่นยำมาก บางทีมก็ไม่ได้ใช้ แต่ใช้เป็นสุนัข K-9 ซึ่งมีการนั่งคุยกับคนรอดชีวิต พอจะทราบเบื้องต้นว่าพอจะมีใครอยู่ตรงไหนบ้าง
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เชื่อยังมีโอกาสอยู่ หากไปคิดว่ารอดหรือไม่รอด จะหมดกำลังใจ หากไม่มีความหวัง เชื่อว่าคงไม่มีใครมาทำงานอาสาสมัคร ซึ่งทุกคนมีความหวัง ชีวิตต้องดำเนินไปด้วยความหวัง ตนเชื่ออีกว่า ที่ผ่านมาหากตึกนี้ไม่ถล่ม กรุงเทพฯ ของแข็งแรง ที่ทำให้เห็นว่ามาตรฐานเราดี
ส่วนความกังวลเหตุสั่นสะเทือนที่อาคารศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ มอง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนยังกังวลอยู่ แต่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะตกใจกัน
ทั้งนี้ ประชาชนแจ้งมาที่ระบบ Traffy Fondue กว่า 17,000 เรื่อง ตรวจไปเกือบหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเคสเบา และมีอีกส่วนที่สั่งการให้เอกชนตรวจตึกของตัวเอง อาคาร 9 ประเภท จำนวน 12,000 อาคาร ที่ต้องตรวจรายปีอยู่แล้ว แต่ย้ำให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจ เริ่มทยอยส่งผลมาแล้ว โดยให้เดตไลน์ 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โรงพยาบาล ตอนเกิดเหตุ พร้อมสั่งสำรวจทุกโรงพยาบาล เพราะเป็นที่ที่คนอพยพเองไม่ได้ จึงมีแนวคิดอยากติดตั้งตัววัดแรงแผ่นดินไหว ว่าทำให้เกิดแรงเท่าไหร่ ตึกอยู่ได้หรือไม่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงกฎหมาย แต่ขณะนั้นทางสภา กทม. มองว่า ยังไม่มีแผ่นดินไหว แต่เข้าใจ เพราะคนปกติก็คิดเหมือนกัน แต่จะเสนอเรื่องนี้ขึ้นไปใหม่ในครั้งหน้า เพราะหากติดตั้งจะทำให้เรารับรู้ข้อมูลได้ดีขึ้น