สืบเนื่องกรณีความคืบหน้าการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ภายในป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งล่าสุด กทม.ได้ทำการบูรณะอาคารพระยาญาณประกาศ ท่าเรือเก่าสำหรับเจ้านายและขุนนางสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการทำความสะอาดและทาสีขาวบริเวณผนังทั้งด้านนอกและด้านใน โดยเกิดกระแสการตั้งคำถามในแวดวงวิชาการว่าได้มีการทำงานร่วมกันกับกรมศิลปากรหรือไม่ เนื่องจากมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว โดย กทม.ระบุว่าเตรียมใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ผศ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การบูรณะอาคารดังกล่าว ตามหลักแล้ว กทม.ต้องประสานกับกรมศิลปากรว่าจะบูรณะด้วยวิธีใด ต้องมีกระบวนการเก็บข้อมูล ประเมินสภาพ พิสูจน์สี และวัสดุ เนื่องจากอาคารดังกล่าวเสื่อมสภาพมาก ถูกทิ้งร้างมานาน เป็นไปไม่ได้ที่จะซ่อมอาคารแค่ผิว ต้องพิจารณาโครงสร้าง และเรื่องของความชื้นด้วย ไม่เช่นนั้น อีกไม่นานก็จะกลับมาเสื่อมสภาพเช่นเดิมหรือมากกว่าเดิม นอกจากนี้ การเปิดใช้เป็นอาคารนิทรรศการซึ่งถือเป็นการเปิดให้สาธารณะใช้งาน ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย สถานการณ์นี้มองว่ากรมศิลปากรต้องมีบทบาทต่อการกระทำของ กทม. เช่น ให้ยุติการบูรณะชั่วคราว
“อิฐมีความชื้น เสื่อมสภาพมาก เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มทำต้องประเมินสภาพ และต้องทำรายงาน ส่งไปกรมศิลป์ ว่าจะทำอะไร กรมศิลป์ลงไปตรวจสอบหรือให้ระงับการซ่อมชั่วคราวเพื่อหาข้อตกลงได้ไหม เพราะนี่มี 2 เรื่องคือ 1.อาคารที่เป็นโบราณสถาน 2.บริเวณนั้นเป็นแหล่งโบราณคดี คุณต้องคิดว่าเป็นพื้นเดียวกันหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะลงมือทำอะไรโดยไม่ผ่านกรมศิลป์ การรีบทาสี ดูแลแค่ภายนอก อย่างไรก็ปูดพอง เมื่อไม่ได้เอาจุดที่ชุ่มน้ำออก หรือใช้วัสดุที่ไม่ได้เหมาะกับการระบายอากาศของปูนเก่า ก็ยิ่งทำให้สิ่งที่เสื่อมสภาพอยู่แล้ว พังเพิ่มไปอีก สิ้นเปลืองงบประมาณ เดี๋ยวสีและปูนก็ต้องระเบิดออกมา ต้องทำใหม่หมด สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร และน้ำ-ไฟที่จะเดินใหม่” ผศ.ดร.วิมลรัตน์กล่าว
นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ไม่ได้ติดต่อมายังสำนักแต่อย่างใด จึงไม่ทราบว่าในขณะนี้มีการบูรณะอาคารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักได้ส่งนักโบราณคดีลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว หากคณะกรรมการเห็นสมควรขึ้นทะเบียน จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือประกาศให้ผู้ครอบครอง ซึ่งในที่นี้เข้าใจว่าคือ กทม. รับทราบ
“บริเวณนั้นมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วคือตัวป้อมมหากาฬ ส่วนอาคารสมัยรัชกาลที่ 6 ริมคลองโอ่งอ่าง ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน หากยังไม่ได้ฟันธงว่าเป็นโบราณสถานหรือเปล่า เราจะไปควบคุมค่อนข้างยาก เพราะอาคารรุ่นรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 6 ต้องมีการประเมินก่อน แม้อยู่ในแผนที่จะขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้หมายความว่าจะขึ้นทะเบียนได้เลย เพราะพอทีมงานเจ้าหน้าที่เตรียมข้อมูลแล้วต้องนำเข้าที่ประชุม สำหรับโบราณสถานนั้น จะมี 2 ระดับ คือ โบราณสถานเฉยๆ กับโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่มีความแตกต่างในการดูแล แต่แตกต่างในบทลงโทษ เมื่อมีผู้กระทำความผิดต่อโบราณสถานนั้นๆ คือ ถ้าเป็นโบราณสถานเฉยๆ ไมได้ขึ้นทะเบียน ถ้ามีการทำลาย โทษปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี ถ้าขึ้นทะเบียนปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท จำคุกไม่เกิน 10 ปี” นายสถาพรกล่าว
ทั้งนี้ อาคารพระยาญาณประกาศ มีลักษณะเป็นทรงยุโรปชั้นเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาญาณประกาศ สุจริตามาตย์ธรรมเสถียร (เลื่อน ศุภศิริวัฒน์) อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ และพระยายืนชิงช้า สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับเจ้านาย และข้าราชการที่จะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนัก วังสระปทุม ริมคลองแสนแสบ คู่อยู่กับท่าเรือชาวบ้าน คือ “ท่าเรือจางวางเอม” บริเวณสะพานผ่านฟ้า นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายคราวทอดพระเนตรการเล่นสักวาในคลองมหานาคช่วงงานภูเขาทอง กลางเดือน 12 วันลอยกระทงอีกด้วย
ที่มา : มติชนออนไลน์