ไฮสปีดเทรน ไทย-จีน เฟส 2 ‘โคราช-หนองคาย’ ใช้วัสดุเหล็กอินเดีย ‘ทาทาสตีล’

ไฮสปีดเทรน

ธรณีพิโรธขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศพม่า ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ และมีเหตุการณ์ตึกกำลังก่อสร้างในโครงการสำนักงานแห่งใหม่ของ “สตง.-สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” ถล่มลงมา กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการตรวจสอบติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งประเด็นผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการ และประเด็นการใช้วัสดุก่อสร้างหลักโดยเฉพาะวัสดุเหล็ก ว่ามีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่

เรื่องเดียวกันนี้ มีความเชื่อมโยงกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ไทย-จีน เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย เพราะมีผู้รับเหมาหลักจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในโครงการก่อสร้างสำนักงานใหม่ของ สตง. ที่ได้ถล่มลงมา หลังจากเพิ่งก่อสร้างไปถึงชั้น 30

โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 32 เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ว่าขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน จากนั้นจะเริ่มกระบวนการประกวดราคา ตามแผนจะเปิดไซต์ก่อสร้างภายในปี 2568

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหว

ในอนาคตเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ กับ สปป.ลาว และจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาค

สำหรับการประกวดราคาระยะที่ 2 นั้น ไม่ได้ใช้การประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) โดยจะใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทย โดยยืนยันว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560

นายสุริยะกล่าวต่อว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ฝ่ายไทยจะควบคุมงานการก่อสร้างเอง รวมถึงออกแบบ และตรวจแบบเองทั้งหมด พร้อมทั้งจะใช้วัสดุภายในประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีการตรวจสอบทั้งระบบอย่างเข้มข้น

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นในความสามารถของวิศวกรของไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และฝ่ายจีนยอมรับได้ โดยได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท. และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำกับติดตามอย่างเข้มงวดให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย

“เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และมีเหตุอาคารกำลังก่อสร้างถล่ม ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ต้องทบทวนกระบวนการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างทั้งระบบ โดยเฉพาะงานโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท. ตรวจสอบคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรับแรงสั่นสะเทือนและต้านทานแผ่นดินไหว โดยจะนำบทเรียนต่าง ๆ มาปรับใช้ในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มเติม”

ADVERTISMENT

คุมเข้มวัสดุเหล็กมาตรฐานสูง

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะกำหนดให้ใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเรื่องการทดสอบวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะต้องมีการตรวจรับรองคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ อาทิ การตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติและรับรองการผลิต

อีกทั้งก่อนที่จะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้ ต้องมีการทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยจะมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทย คือ ต้องมีการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด ขณะเดียวกันเมื่อนำเหล็กมาถึงโครงการก่อสร้าง จะต้องมีการเก็บ Tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ และจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทำการทดสอบตามข้อกำหนด

ขณะที่ก่อนทำการเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะทำการสุ่มตรวจจำนวน และขนาดเหล็ก เมื่อผ่านมาตรฐานแล้วจึงจะทำการเทคอนกรีตได้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ตามแผนที่กำหนดไว้คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2572

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่า ได้ดำเนินการบนมาตรฐานที่สูง ขณะที่โครงสร้างเหล็กต่าง ๆ มีมาตรฐานตามระดับสากล และได้รับรายงานว่าโครงการนี้ใช้เหล็กของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ ได้ทำการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว

นายวีริศกล่าวด้วยว่า การตรวจสอบสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร วงเงิน 9,348 ล้านบาท มีผู้รับจ้างเป็น บจ.กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รวมถึงวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด