เปิดข้อกฎหมาย หลังประหาร “ธีรศักดิ์ หลงจิ” อ้างพยานใหม่โผล่ รื้อคดีได้หรือไม่!

เปิดข้อกฎหมายรื้อคดีอาญา หลังมีผู้อ้างตัวเป็น ‘พยาน’ ที่ตำรวจไม่เคยเรียกสอบ อ้างเห็นกับตา ‘มิก’ นักโทษประหารไม่ได้ฆ่าชิงทรัพย์ ต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปีนับจากความปรากฎ

จากกรณี นายธีรศักดิ์ หลงจิ หรือ มิก ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถูกประหารชีวิต ในคดีผู้เสียหายซึ่งเป็นนักเรียน ชั้น ม.5 เสียชีวิต จากการถูกเเทง 24 แผล หวังฆ่าชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อ 17 กรกฎาคม 2555 ที่ล่าสุด มีบุคคลที่กล่าวอ้าง ว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า วันเกิดเหตุ ได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านไปที่สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนรินทร์ 95 จุดเกิดเหตุ เห็นคนร้ายเป็นวัยรุ่น 2 คน กำลังจ้วงแทงผู้เสียหาย เเละยังยืนยันว่า คนร้ายที่ก่อเหตุไม่ใช่ตัวนายธีรศักดิ์ ที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตไป ซึ่งผู้ที่อ้างว่าเป็นพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวยังระบุอีกว่า หลังเกิดคดี ไม่เคยถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบปากคำ โดยคดีนี้ ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา ให้จำเลย(นายธีรศักดิ์ หลงจิ)ฟังเมื่อ 12 พฤษภาคม 2559 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน แหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรมได้อธิบายถึงข้อกฎหมาย หากจะมีการขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆในการขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ไว้ ได้แก่ ต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา โดยมีกรณีที่จะขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ 3 กรณี ตามมาตรา 5 คือ

1.ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าคำเบิกความของพยานบุคคลที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดีเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง

2.ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคล เช่น พยานเอกสาร พยานวัตถุ ที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดี เป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง

3.มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาไม่ได้กระทำความผิด

“โดยในการยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามมาตรา 5 ดังกล่าว หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด และมีสิทธิที่จะยื่นขอรับค่าทดแทน หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืนได้ แต่ไม่รวมถึงสิทธิในทางทรัพย์สิน “

แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งนี้ใน มาตรา 6 กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ไว้ เช่น บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง เป็นต้น

“เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องแล้วก็จะทำการไต่สวนคำร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่อัยการเป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้และเมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสร็จก็จะส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ศาลอุทธรณ์ก็จะสั่งรับคำร้องและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ต่อไป”

“แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ศาลอุทธรณ์ก็จะมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งของศาลอุทธรณ์นี้ถือเป็นที่สุดในขั้นตอนการพิจารณาคดีใหม่ของศาลชั้นต้น”

“ในกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมได้กระทำความผิด ศาลก็จะมีคำพิพากษายกคำร้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิด ศาลก็จะพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด แต่ในกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องจะพิจารณาคดีและทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ให้เป็นผู้พิจารณาว่าจะพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิดต่อไป”แหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรมกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์