อาจารย์ มธ. แชร์แนวทางรับมือ ‘แผ่นดินไหว’ ในอนาคต ทั้งอาคาร-กาย-ใจ

ม.ธรรมศาสตร์ เสวนาวิชาการ แผ่นดินไหว

เปิดข้อมูลวงเสวนา อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ กับการรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต หากเกิดขึ้นอีก ต้องรับมืออย่างไร ทั้งในแง่อาคาร โครงสร้าง สุขภาพกาย-สุขภาพใจ และสารพัดข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งพัฒนา AI เพื่อตรวจสอบความเสียหาย รอยร้าวของอาคารในเบื้องต้น

เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่ สร้างความตระหนกให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก แม้เวลาล่วงเลยไปกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่ยังมีความกังวลที่หลงเหลืออยู่ ทั้งโครงสร้างอาคาร และความวิตกกังวลภายในจิตใจของผู้ประสบเหตุดังกล่าว

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาวิชาการ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับมือกับแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทย และยกระดับความสามารถของประชาชนในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชนในยามวิกฤต ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม-วิศวกรรมโยธา วงการแพทย์ จิตวิทยาและการสื่อสาร

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมแนวทางรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต ทั้งอาคาร สิ่งก่อสร้าง สุขภาพกาย และสุขภาพใจ

ตึกสูงส่วนใหญ่ ยังปลอดภัย

รศ.ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับด้านโครงสร้างอาคาร ซึ่งการที่ตึกสามารถ “ยืดหยุ่น” และ “โยกตัวได้” ภายใต้แรงสั่นสะเทือนนั้น ถือเป็นหลักการออกแบบที่ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว โดยอาคารยุคปัจจุบันนิยมใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งผสมผสานคุณสมบัติของ “ความแข็งแรง” จากคอนกรีต และ “ความเหนียว” จากเหล็กไว้ด้วยกัน

ทำให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนและกระจายแรงได้ดี เทคนิคทางด้านออกแบบของตึกอาคารสูงในยุคนี้จึงออกแบบให้มีความยืดหยุ่นเพื่อกระจายแรงและรับน้ำหนักของตัวเองได้ หากไม่สามารถโยกตัวได้ อาจเสี่ยงต่อการแตกร้าวหรือพังทลายมากขึ้น

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม หากตัวอาคารเกิดการแกว่งตัวมากเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของโครงสร้าง โดยเฉพาะในกรณีที่โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้เพียงพอ หรือได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนก่อนหน้า แม้ในภาวะปกติอาคารจะถูกคำนวณไว้แล้วให้ทนต่อการสั่นไหวระดับหนึ่ง แต่หากเกิดแรงสั่นซ้ำซ้อน เช่น อาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง หรือตัวอาคารมีความเสียหายที่จุดในโครงสร้างเดิม อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการถล่มของโครงสร้างอาคารได้

ADVERTISMENT

รศ.ดร.พรหมพัฒนกล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจับตามองคือ ระบบตรวจสอบรอยร้าวด้วยภาพถ่าย (Crack Detection) ที่ใช้ AI ด้าน Computer Vision, Photogrammetry และ Large Language Model ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายของอาคารเพื่อประเมินรอยร้าว ความเอียงและความผิดปกติของโครงสร้าง

โดยเฉพาะการใช้โดรนเก็บข้อมูลภาพถ่ายรอบตัวอาคาร และสร้างแบบจำลองโมเดลสามมิติ (3D Modeling) ช่วยให้สามารถตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่ตามองไม่เห็น เช่น ความเอียงเพียงเล็กน้อยของอาคาร หรือรอยร้าวที่มีแนวโน้มลุกลาม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อโครงสร้างในอนาคต

โดยเทคโนโลยีเหล่านี้เปรียบเสมือน “หมอเอกซเรย์อาคาร” ที่ช่วยมองทะลุความเสียหายที่ซ่อนอยู่ เพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และประเมิน ช่วยลดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการตรวจสอบแบบเดิม

ทั้งนี้ หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเทคเหล่านี้มาใช้ได้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกันในการจัดเก็บและติดตามข้อมูลโครงสร้างอาคารอย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารทั่วประเทศได้ในระยะยาว

พัฒนา AI ใหม่ ช่วยตรวจอาคารเบื้องต้น

InSpectra-o1” ต้นแบบแอปพลิเคชั่นสำหรับประเมินความเสียหายทางโครงสร้างได้จากภาพถ่ายด้วย AI ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย รศ.ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ศูนย์วิจัยตรวจสอบโครงสร้างและเฝ้าระวังภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยยังอยู่ในระหว่างการทดลองใช้งานที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้ได้

เพื่อช่วยตรวจสอบและประเมินรอยร้าว ความเสียหายในเบื้องต้นของที่อยู่อาศัยได้ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลของอาคารและบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นแบบแปลน โครงสร้าง หรือประวัติการซ่อมแซม จะช่วยให้วิศวกรเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว สามารถตรวจสอบอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังใช้เป็นหลักฐานประกอบการประกันภัย ลดข้อโต้แย้งและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยประเมินความเสียหายของอาคารได้อย่างรวดเร็ว แต่การใช้งานยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ AI สามารถประเมินได้เพียงราว 50-60% เท่านั้น จึงยังต้องอาศัยวิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมในจุดที่ AI ยังไม่ครอบคลุม

ทั้งนี้ InSpectra-o1 ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ประชาชนสามารถถ่ายภาพและอัพโหลดได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอกข้อมูล ระบบจะเริ่มวิเคราะห์เบื้องต้นโดยอัตโนมัติ หากทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มความแม่นยำให้ AI สามารถประเมินได้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

แนะรัฐสร้างระบบเตือนภัย คนไทย-ต่างชาติ รับรู้ข้อมูลร่วมกันได้

อาจารย์วัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องระบบสื่อสารเพื่อการกู้ภัยในพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม เล่าว่า ในอดีตผู้คนจะคุ้นเคยกับการแจ้งเตือนภัยผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แต่ปัจจุบัน ผู้คนอยู่ใกล้กับโทรศัพท์มือถือ จึงกลายเป็นวิธีหลักที่สามารถแจ้งเตือนภัยได้ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด

สำหรับประเด็นระบบ Cell Broadcast ที่เป็นที่สนใจของประชาชนนั้น อาจารย์วัชระระบุว่า หากระบบสามารถเสร็จได้ตามกำหนด จะทำให้ประเทศไทยมีระบบแจ้งเตือนภัยแบบเดียวกับในต่างประเทศ ทั้งลักษณะการเตือน ระบบการทำงาน การส่งข้อมูล การกำหนดพื้นที่เตือนภัย ประเภทของภัย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประชาชนมีวิวัฒนาการของการใช้อุปกรณ์สื่อสารอยู่ตลอดเวลา ภาครัฐควรเข้าใจแนวโน้มในอนาคตด้วยเช่นกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ขณะเดียวกัน อาจารย์วัชระยังเล่าถึงการให้ความสำคัญของหอกระจายข่าวที่อยู่ตามพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเคยมีบทเรียนจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งแม้จะยังไม่มีระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast แต่การรับรู้ข้อมูลเป็นภาษาไทย ยังมีให้เห็น แต่ชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับทราบข้อมูลในส่วนนี้ด้วย

นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของกรุงเทพฯ สำหรับการรับมือและเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ สามารถรับรู้ข้อมูลร่วมกันได้

การดูแลสุขภาพกาย-ใจ

อาจารย์ศุภณัฐ พัฒนพันธุ์พงศ์ สาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ระบุถึงภาวะ PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้คนเผชิญจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยระบุว่า การเผชิญเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ทำให้มีสภาวะจิตใจที่ไม่ดีหรือมีอาการช็อกได้ ทั้งอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น วิตกกังวล หรือเห็นภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ (Flashback) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคนแบบฉับพลันและสามารถหายได้ในเวลาไม่นาน

แต่หากปล่อยให้สภาวะจิตใจยังไม่คงที่ หรือปล่อยให้เกิดอาการลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องไป จนเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเสี่ยงต่อการมีภาวะ PTSD

คำแนะนำหนึ่งของอาจารย์ศุภณัฐ ในการรับมือกับภาวะทางจิตใจจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คือ การตั้งสติและกลับมาอยู่กับตัวเอง ทำใจให้สงบ อาจจะเป็นการฝึกหายใจ หรือการกลับมาอยู่กับปัจจุบัน (Grounding) และอีกสิ่งสำคัญคือการมี Support System กับคนรอบข้าง ในการแชร์ความรู้สึกร่วมกันว่าเกิดอะไรขึ้น จะช่วยให้สภาพจิดใจเบาลงได้

ขณะที่ ผศ.พญ.นิพัทธา วินะยานุวัติคุณ ภาควิชาสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มประชาชนที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นลำดับต้น ๆ

แต่ในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ปรากฏหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการคุ้มครองและจัดการช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุกวินาทีหมายถึงความอยู่รอด ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ ขณะที่มาตรการในระดับชาติเพื่อรองรับและดูแลกลุ่มเปราะบางหรือประชาชนทั่วไปก็ยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านความครอบคลุมและความชัดเจนในการดำเนินการ  

อีกด้านหนึ่ง ประชาชนทั่วไปควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้พื้นฐานในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่าง ๆ พร้อมเข้าใจวิธีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการเผยแพร่ข้อมูล จัดทำแนวปฏิบัติที่เหมาะสม รวมถึงพัฒนาระบบการเตือนภัยและการช่วยเหลือที่เข้าถึงง่ายและเพียงพอสำหรับทุกกลุ่ม เพราะในยามเกิดภัยพิบัติ ความรอดพ้นของชีวิตคนหนึ่งคน อาจขึ้นอยู่กับความพร้อมของสังคมโดยรวมทั้งหมด

นอกจากนี้ แนวทางเบื้องต้นในการดูแลกายและใจก็มีความสำคัญ เช่น การประเมินสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพักพิง การจัดหาอาหาร น้ำสะอาด และยารักษาโรคพื้นฐาน การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการส่งต่อผู้มีภาวะผิดปกติของร่างกายและจิตใจไปยังหน่วยบริการสุขภาพที่เหมาะสม 

การรู้เท่าทัน ‘ข่าวปลอม’ ท่ามกลางภัยพิบัติ

รศ.ดร.นิธิดา แสงสิงแก้ว สาขาวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข่าวและข้อมูลหลักของประชาชน การสื่อสารในช่วงสถานการณ์วิกฤตโดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว หรือไฟป่า มักแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีพลังในการสร้างความตื่นตระหนกได้ในวงกว้าง

ปัญหาสำคัญคือข้อมูลจำนวนมากที่เผยแพร่ในช่วงเหตุการณ์เหล่านี้ อาจยังไม่ผ่านการตรวจสอบหรือขาดแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ซึ่งหากประชาชนรับข้อมูลโดยไม่ไตร่ตรอง ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมหรือตื่นตระหนกเกินจำเป็น การมี “ทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ” จึงเป็นเกราะสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรมี โดยเฉพาะการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว เปรียบเทียบกับข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และหลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่ยังไม่แน่ชัด

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ การที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจฉวยโอกาสในช่วงสถานการณ์วิกฤตสร้างประเด็นหรือบิดเบือนข้อมูล เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของสังคม หรือชี้นำทิศทางความคิดเห็นในเชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสังคมในวงกว้าง การตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างหรือขยายประเด็นทางสังคมที่ไม่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนควรใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะการสื่อสารไม่ใช่เพียงแค่การเสพข่าวเท่านั้น แต่ยังหมายถึง การรู้เท่าทัน บริโภคอย่างมีวิจารณญาณ และเลือกขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันข่าวสารที่แข็งแรงในช่วงเวลาแห่งความเปราะบางของสังคมไทย

“ประชาชนควรรับฟังข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การหาจุดปลอดภัยในอาคาร การจัดกระเป๋าฉุกเฉิน และการวางแผนเส้นทางอพยพล่วงหน้า ความเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดในกรณีเกิดเหตุการณ์จริง ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคประชาชนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างสังคมที่พร้อมเผชิญและรับมือกับแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุ”

รศ.ดร.นิธิดา ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการรับมือกับข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยต้องมีความเข้าใจ และต้องตรวจสอบอย่างรอบด้าน เช่น คลิปสั้นบนโซเชียลต่าง ๆ หากโพสต์โดยบัญชีผู้ใช้ที่ชื่อแปลก ๆ หรือมีลักษณะคล้ายเป็นแอคหลุม อาจสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าไม่น่าเชื่อถือ

หรือกรณีที่เป็นคลิปเหตุการณ์ในอดีตแต่ถูกนำมาโพสต์ใหม่ หรือระบบอัลกอริทึมขึ้นแนะนำข่าวเก่าในช่วงเวลาเหตุการณ์นั้น ๆ อาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ข้อมูลบิดเบือน หรือ Misinformation และอาจสร้างผลกระทบกลับมาที่ผู้รับสารได้ไม่มากก็น้อย

สำหรับมุมของคนทำสื่อกับการสื่อสารหรือรายงานสถานการณ์ในช่วงภัยพิบัตินั้น รศ.ดร.นิธิดาให้คำแนะนำว่า อาจจะต้องดูแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ให้ชัดเจนว่ามาจากสื่อไหน จากแพลตฟอร์มใด และต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้ให้ถูกต้องก่อนนำเสนอข่าว และสำหรับภาครัฐเอง ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่น เกิดความเชื่อถือในข้อมูลต่าง ๆ ที่สื่อสารกับประชาชน และต้องสื่อสารเป็นสิ่งเดียวกัน ความหมายเดียวกัน (Single Message)

รับชมงานเสวนาวิชาการฉบับเต็ม ที่นี่