สุริยะ ย้ำ ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ครบ 8 เส้นทาง จำกัดเฉพาะชาวไทย

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย

สุริยะ ย้ำ ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ครบ 8 เส้นทางแน่นอน-สงวนรับสิทธิจำกัดเฉพาะชาวไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยยืนยันว่านโยบายดังกล่าวจะครอบคลุมรถไฟฟ้าทั้ง 8 สายทาง และพร้อมเปิดให้บริการในอัตราเดียวทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2568 เป็นต้นไป

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายทางอื่น ๆ ที่จะเข้าร่วมนโยบายดังกล่าว ได้แก่ สายสีแดง สายสีม่วง สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวมเป็นทั้งสิ้น 8 สายทางตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

จำกัดใช้สิทธิ 20 บาทตลอดสายเฉพาะคนไทย

นายสุริยะเผยว่า ในระยะแรกของการดำเนินนโยบาย ผู้ที่จะได้รับสิทธิค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีบัตรประชาชนไทย 13 หลัก และจะต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2568 เป็นต้นไป โดยตนยืนยันว่าขั้นตอนการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยากและซับซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับการชำระค่าโดยสารนั้น ในช่วงแรกผู้โดยสารจะยังคงสามารถใช้บัตรโดยสารเดิมของแต่ละระบบได้ โดยจะต้องนำบัตรเหล่านั้นมาลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ‘ ก่อนจึงจะได้รับสิทธิค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายใด หรือมีการเปลี่ยนสายในระบบก็จะคิดค่าโดยสารเพียง 20 บาทเท่านั้น

โดยระบบจะเคลียร์ค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ให้บริการแต่ละรายเอง ยกตัวอย่างเช่น หากใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและต่อด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก็สามารถชำระผ่านบัตร MRT Plus และบัตร EMV ได้ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง และสายสีชมพู จะใช้บัตร Rabbit ในการชำระค่าโดยสาร

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นายสุริยะกล่าวถึงการพัฒนาในระยะที่ 2 ว่า ภายในปี 2569 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาระบบการชำระค่าโดยสารให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยจะเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกน QR code ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องพกบัตรโดยสารอีกต่อไป ทำให้การเดินทางสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ควักกำไรสะสม รฟม.ปีละ 8,000 ล้าน จ่ายชดเชยผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ นายสุริยะกล่าวว่า ในส่วนของการชดเชยรายได้ให้กับเอกชนผู้ประกอบการรถไฟฟ้านั้น คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะนำเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือจากกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาท มาใช้ในการชดเชยรายได้ดังกล่าว ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถประกาศกฎหมายลำดับรองได้ภายในเดือนกันยายน 2568

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นายสุริยะเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ซึ่งจะเป็น 1 ในแนวทางการชดเชยรายได้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาถึงเกณฑ์และเส้นทางในการเรียกเก็บ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรียกเก็บโดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ให้ข้อมูล