อ่วมหนัก! ภัยแล้งกระทบ ชัยนาท-อุทัยธานี ข้าวยืนต้นตาย ฮือนัดรวมตัว

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่คลองส่งน้ำใหญ่ละหาน หมู่ 3 ต.นางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท มีเกษตรกรชาวนาจาก 2 ตำบล คือ ต.นางลือ และต.ท่าชัย นัดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องขอน้ำทำนา เนื่องจากปัจจุบันกรมชลประทานกำลังก่อสร้างโรงสูบน้ำคลองใหญ่ละหาน ที่บริเวณปากแม่น้ำ ทำให้ไม่สามารถผันน้ำเข้าคลองได้ตามกำหนดส่งน้ำเพื่อการเกษตรในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ ซึ่งเวลาก็ผ่านมาถึง 2 เดือนทำให้ชาวนากว่า 200 รายที่ต้องอาศัยน้ำจากคลองแห่งนี้ในการปลูข้าว ต้องระดมเครื่องสูบน้ำมาช่วยกันสูบน้ำจากบึงนางลือเข้าคลอง เพื่อแบ่งสรรปันส่วนกันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะข้าวที่กำลังเติบโตต้องการน้ำ ไม่เช่นนั้นจะต้องเหี่ยวเฉาตาย โดยมีพื้นที่รับน้ำที่รอความช่วยเหลือกว่า 10,000 ไร่ในสองฝั่งคลองใหญ่ละหานแห่งนี้ จึงอยากให้กรมชลประทานได้หาทางแก้ปัญหให้ชาวนาด้วย เพราะก่อนหน้านี้ทางกรมชลประทานรับปากว่าจะขุดคลองเบี่ยงให้น้ำผันเข้าคลองได้ชั่วคราวเพื่อใช้ในการทำนาปี แต่จนป่านนี้น้ำยังไม่มีมาถึง จึงอยากขอร้องให้ดูแลแก้ไขปัญหาให้ชาวนาด้วย

ด้านนายธนู โพธิ์เอี้ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลเทพ เจ้าของพื้นที่ชี้แจงว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้เร่งทำคลองเบี่ยงชั่วคราวผันน้ำให้แล้ว คาดว่า 2-3 วันนี้น้ำน่าจะเข้าถึงพื้นที่การเกษตรของประชาชนในคลองใหญ่ละหานได้

ส่วนที่ จ.อุทัยธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานีเริ่มเกิดฝนทิ้งช่วงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวนอกเขตชลประทาน อย่างพื้นที่ ต.ทุ่งพง อ.หนองฉาง และพื้นที่ ต.หนองกลางดง อ.ทัพทัน ที่นาข้าวนับพันไร่อายุได้ 45 วัน กำลังขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว จนแห้งเหี่ยวเฉารอวันยืนต้นตาย หากยังคงไม่มีน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงต้นข้าวภายใน 1 สัปดาห์นี้ เบื้องต้นเกษตรกรในพื้นที่ต่างต้องระดมตั้งเครื่องสูบน้ำที่ยังพอมีจากคลองธรรมชาตินำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในบางส่วน เพื่อให้ข้าวนั้นเสียหายน้อยที่สุด

นายสุพจน์ พันธ์มี เกษตรกรหมู่ 2 ต.ทุ่งพง เผยว่า ตนและครอบครัวได้มาเช่านาในพื้นที่หมู่ 4 ต.หนองกลางดง อ.ทัพทัน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกันจำนวน 16 ไร่ ต้องเสียค่าเช่าในการทำนาครั้งแรกต่อปีเป็นข้าวจำนวน 3 ตันครึ่ง และครั้งที่ 2 ต้องเสียอีกครึ่ง ในจำนวนที่เสียครั้งแรกเท่ากับการเช่านาใน 1 ปี จะต้องเสียค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกกว่า 5 ตัน แต่ทว่าการทำนาครั้งแรกกลับต้องกำลังประสบปัญหา ซึ่งลงทุนทำนาไปแล้วจำนวนมาก ทั้งค่าไถ เตรียมแปลงหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าพันธุ์ข้าว รวมแล้วกว่า 35,000 บาท และไม่รู้ว่าข้าวนั้นจะรอดตายหรือไม่ เพราะฝนได้ทิ้งช่วงมานาน เบื้องต้นจำเป็นต้องช่วยเหลือตนเองไปตั้งเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากคลองธรรมชาติลงต่อไปตามคลองไส้ไก่ ระยะทางเกือบ 2 กิโล ซึ่งไม่รู้ว่าปริมาณน้ำนั้นจะถึงแปลงนาได้สักเท่าไร แต่ก็จำยอมทั้งรู้ว่าเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย

“จึงอยากจะวอนขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประสานขอการทำฝนเทียมมาช่วย และให้มีการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำของชลประทานควบคู่กันไป เพื่อประคับประคองไม่ให้ต้นข้าวยืนต้นตายได้รับความเสียหายไปทั้งหมด”นายสุพจน์ กล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์