
เก็บทุกเม็ด อะไรที่เป็นความไม่ปลอดภัยคนกรุง
โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “รศ.ทวิดา กมลเวชช” สลัดคราบนักวิชาการรั้วธรรมศาสตร์ รับตำแหน่งในสายงานกำกับดูแล 7 หน่วยงาน
ประกอบด้วย 1.สำนักการแพทย์ 2.สำนักอนามัย 3.สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 4.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5.สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร 6.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 7.สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล
ชีวิตค่อนชีวิตมีชื่อเสียงในวงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งในและต่างประเทศ เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว เป็นอีกครั้งที่ “รองทวิดา” ได้รับเสียงชื่นชมจากหลายทิศทาง
ภารกิจบนหน้าตักรองผู้ว่าราชการ กทม. ไม่มีเวลาให้ทิ้งขว้าง คุณสมบัติข้อแรกต้องอึดและบึกบึน
ล่าสุด ภารกิจทางตรงบนหน้าตัก นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานของเจ้าพนักงานสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2568
ดูเหมือนจะเป็นงานยิบย่อย แต่อย่าลืมว่าทีมชัชชาติมีนโยบายเรือธงในการบริหารจัดการมหานครกรุงเทพแบบเส้นเลือดฝอย บอร์ดสาธารณสุข กทม. จึงไม่ธรรมดา
โดย “รองผู้ว่าฯทวิดา” กล่าวว่า อยากขอให้ปรับวิธีการในการดำเนินงานของเจ้าพนักงานสาธารณสุขใหม่ กล่าวคือ อยากให้มีแผนการตรวจงานต่าง ๆ โดยละเอียด เดือนไหนสัปดาห์ไหนจะตรวจอะไร ต้องเอาเรื่องทั้งหมดของ กทม.มาวาง ซึ่งจะสอดคล้องไปกับรูปแบบการตรวจ
ที่ผ่านมาเราตรวจอยู่ 2 หมวด คือ 1.ตรวจตามใบอนุญาต และ 2.ตรวจตามข้อร้องเรียนของประชาชน
ดังนั้นใน 1 ปีปฏิทิน (มกราคม-ธันวาคม) การตรวจในเรื่องต่าง ๆ ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาด้วย ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนหมวดการตรวจเป็นการตรวจเชิงรุก ทั้งในเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ และตรวจให้เจอความไม่ปกติ เพื่อบริหารจัดการลดความเสี่ยง ไม่อย่างนั้นเหตุที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ก็จะยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และเราจะรับมือไม่ทัน
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯทวิดาเน้นย้ำให้มีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้รายงานที่ประชุมทราบถึงแผนการตรวจประเมินสุขลักษณะ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.การตรวจตู้น้ำมันหยอดเหรียญ 2.ตรวจสอบแหล่งกำเนิด/โรงงานเพื่อเฝ้าระวังฝุ่นละออง 3.ตรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 4.ตรวจสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง
5.ตรวจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6.ตรวจสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 7.ตรวจประเมินกิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง 8.ตรวจประเมินสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะตามเกณฑ์มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะระดับประเทศ (HAS) 9.การควบคุมและตรวจสอบสุขลักษณะของฌาปนสถาน (เตาเผาศพ) และ 10.การตรวจแนะนําการจัดการคุณภาพน้ำใช้ในอาคารคอนโดมิเนียม
รวมทั้งผลการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ ปี 2567 เป็นต้น
นอกจากนี้ เรื่องที่สำนักอนามัยเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา กระบวนการ ขั้นตอน แนวทางการดำเนินงานบูรณาการตรวจสอบเหตุรำคาญร่วมกันระหว่างสำนักงานเขตและสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย และการควบคุม กำกับดูแลสถานประกอบการที่มีการจำหน่ายอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ยุทธการปราบไขมันอุดตัน ป้องกันน้ำท่วม