องค์กรช่วยเหลือเด็กฯ เปิดงานวิจัยเด็กผู้ลี้ภัย ชี้เข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชน-การศึกษา

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the children ) จัดงานเปิดตัวงานวิจัย “อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย” และเวทีเสวนา “เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” เนื่องในสัปดาห์วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี พ.ศ. 2561

นางสาวรติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็ก ระดับภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ได้อพยพหนีภัยสงคราม ภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือภัยจากการได้รับผลกระทบ จากความเชื่อทางศาสนาเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชั่วคราว และผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่าย ซึ่งส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุตัวเลขผู้ลี้ภัยในเมืองมีประมาณ 6,000 คน ซึ่งเป็นเด็กมากกว่า 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ โดยร้อยละ 55มาจากปากีสถาน รองลงมาเวียดนามร้อยละ 10 จากปาเลสไตน์ ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 30 มาจากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน และอื่นๆ ทั้งนี้ในปีพ.ศ. 2561 มีผู้ลี้ภัยจากไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงร้อยละ 5.5. จากจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งหมด

ทั้งนี้ นางสาวรติรส เปิดเผยอีกว่า จากการวิจัยพบว่า หากพ่อแม่ถูกจับ เด็กๆจะได้รับผลกระทบไปด้วย ที่น่าห่วงคือเด็กๆที่ถูกควบคุมตัวในสถานกักกันไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนหรือได้รับการดูแลที่เหมาะสม และมีสภาพเป็นอยู่ที่แออัด สกปรก ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และมีการกักกันที่ไม่เหมาะสม ทั้งยังพบว่าเด็กชายที่ถูกกักแยกจากผู้ปกครองต้องเผชิญกับการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เด็กมีความหวาดกลัวและอายเกินไปที่จะรายงานเหตุที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาจิตใจของพวกเขาในระยะยาว ต้องเผชิญกับภาวะของการถูกทำให้โดดเดี่ยว หวาดกลัวตลอดเวลา

นางสาวรติรส กล่าวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลจัดการกับเด็กผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสมดังนี้ 1. ให้นำเด็กออกจากสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยทันที ไม่ควรมีเด็กคนไหนที่ จะต้องถูกกันตัวในสถานที่และสภาพแวดล้อมแบบนั้น และให้รัฐจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม ให้กับเด็กและครอบครัวได้พักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่แยกครอบครัวของเด็กด้วย 2.ขอให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ลี้ภัยตามที่พลเอกประยุทธ์ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย 3.ขอให้รัฐมีการจัดอบรม และพัฒนาศักยภาพ ของครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนของรัฐ, ตำรวจตม. ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทั่วไป และผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้เข้าใจถึงสิทธิ ปฏิบัติต่อเด็กๆผู้ลี้ภัยด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานยังมี “โรงเรียนผู้ลี้ภัยจำลอง” เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสบรรยากาศห้องเรียนในค่ายผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาดของเด็กผู้ลี้ภัยที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงในอดีต, ปัจจุบัน และความหวังของพวกผู้ลี้ภัย พร้อมฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ปลดล็อคห้องกักตม.ไม่ใช่ที่อยู่ของเด็ก” ที่จะบอกเล่าถึงเส้นทางความยากลำบากและชะตากรรมที่เด็กๆผู้ลี้ภัยต้องพบเจอขณะเดินทางเพื่อลี้ภัย รวมถึงการเลือกซื้ออาหาร, เสื้อผ้าประจำชาติพันธุ์และงานฝีมือต่างๆ ของชุมชนผู้ลี้ภัยต่างๆ ในประเทศไทยด้วย

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์