ประกาศใช้แล้ว กฎหมายใหม่ 2 ฉบับ สกัดมิจฉาชีพ-แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ประกาศราชกิจจา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก. ไซเบอร์ 2 ฉบับ สกัดมิจฉาชีพ-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ธปท.ระบุชัด แบงก์-ค่ายมือถือ ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (social platform) และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องยกระดับการดูแลลูกค้า และร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 รวม 2 ฉบับ

โดย พระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นต้นไป)

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ นี้ นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญของ พ.ร.ก.นี้ คือ การกำหนดกลไกให้ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (telco) ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (social platform) และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ต้องยกระดับการดูแลลูกค้า และร่วมชดเชยความเสียหายหากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด

ซึ่งในส่วนของ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำประกาศเพื่อกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงิน โดยประกาศจะครอบคลุมทั้งการป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ การจัดการบัญชีม้า และกระบวนการรับแจ้งเหตุที่รวดเร็ว ทั้งนี้ คาดว่าประกาศดังกล่าวจะออกใช้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี แม้ พ.ร.ก. จะกำหนดให้ผู้ให้บริการอาจมีส่วนต้องรับผิดชอบในความเสียหายของลูกค้า ธปท. ขอให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาความปลอดภัย ไม่กดลิงค์ที่ไม่รู้จัก และตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รายละเอียด พ.ร.ก. 2 ฉบับมีดังนี้

1.พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ให้ไว้ ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2568 โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ADVERTISMENT

พระราชกำหนดนี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนเพื่อสุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สินทโดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก

ฉะนั้น สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักรไทยแล้ว

 

และ 2.พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ให้ไว้ ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2568 โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

พระราชกำหนดนี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร

ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว