เปิดลิสต์ ยาทำให้ง่วง เสี่ยงหลับใน หมอแนะเลี่ยงขับขี่ ลดอุบัติเหตุ

ยา ยารักษาโรค การขับรถ
ภาพจาก Adobe Stocks

เปิดลิสต์ กลุ่มยามีฤทธิ์ง่วงซึม ทำให้เกิดอาการง่วง ตัดสินใจได้ช้าลง เสี่ยงต่อการหลับใน อันตรายต่อการขับขี่ หมอแนะเลี่ยงการขับขี่หากใช้ยากลุ่มดังกล่าว

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ที่ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระบุว่าพบสาเหตุจากการหลับในที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงและหลับใน ว่า แนะนำประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการหลับใน หลีกเลี่ยงการขับขี่

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ยาหลายชนิดมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม หากขับขี่หลังรับประทานยา จะเสี่ยงต่อการหลับในและการตัดสินใจจะช้าลง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้สูง จึงขอให้คำแนะนำประชาชน หากรับประทานในกลุ่มยาดังต่อไปนี้ ไม่ควรขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรขณะใช้ยาเหล่านี้

  • ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาโรคซึมเศร้า
  • ยากันชัก ยารักษาอาการปวดเส้นประสาท เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin)
  • ยาแก้ปวดรุนแรง เช่น มอร์ฟีน, ทรามาดอล (Tramadol), โคเดอีน (Codeine)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น บาโคลเฟน (Baclofen), โทลเพริโซน (Tolperisone), โอเฟนนาดรีน (Orphenadrine)
  • ยาแก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก เช่น คลอเฟนนิรามีน (Chlorpheniramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)
  • ยาแก้ไอทั้งแบบเม็ดและยาน้ำ ที่มีส่วนผสมของโคเดอีน (Codeine) หรือ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
  • ยาแก้เมารถ เมาเรือ ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
  • ยาต้านอาการท้องเสีย (Loparamine)

ด้าน นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการง่วงจากยามักไม่ได้เกิดทันทีหลังกินยา แต่มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานยา และอาการง่วง มักมีอาการต่อเนื่องต่ออีกหลายชั่วโมงขึ้นอยู่กับชนิดของยา

ดังนั้น หากรับประทานควรหลีกเลี่ยงการขับรถในระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ นอกจากฤทธิ์ของยา สภาพร่างกายในช่วงที่เจ็บป่วยไม่สบาย จะอ่อนเพลีย อ่อนล้าได้มากกว่าปกติ ทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการหลับในเมื่อไปขับรถได้สูง โดยเฉพาะการขับขี่ระยะทางไกล จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่เช่นกัน

ขณะที่ พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ ได้กล่าวว่า ตัวอย่างยาข้างต้นเป็นยาที่ใช้ในชีวิตประจำวันบ่อย แต่ยังมียาอีกหลายชนิดที่มีต่อจิตประสาททำให้ง่วงได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อได้รับยา รวมทั้งควรอ่านฉลากยาก่อนกินยา จะมีคำแนะนำ ข้อควรระวังหรือผลข้างเคียงของยา หากสงสัยเรื่องยา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เภสัชกรหรือแพทย์ใกล้บ้าน หรือ สายด่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โทร.1556 สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ADVERTISMENT