กรมทรัพยากรธรณี เจอโพรงทางเข้าถ้ำหลวงอีกทาง ลุ้นเชื่อมถึงโถงนร.ติดอยู่

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประสานงานระหว่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวกรณีเด็กนักเรียนฟุตบอลทีมหมูป่า ประกอบด้วยเยาวชนอายุ 11-16 ปี 12 คน และผู้ฝึกสอน 1 คน อายุ 25 ปี รวม 13 คน ที่เดินทางไปเที่ยวภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งติดอยู่ในถ้ำเนื่องจากฝนตกจนน้ำใต้ดินดันขึ้นมาปิดทางเข้า-ออก ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา

นายทศพร กล่าวว่า จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ พบว่าภายในถ้ำเจออุปสรรคหลายๆ อย่าง เจอทรายอุดกลบบ้าง มีจุดที่ต้องดำน้ำ เพราะฉะนั้นจึงร่วมประชุมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.) ที่ 15 (เชียงราย) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าจะมีโอกาสหาทางเข้าออกทางอื่นได้อีกหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลภายถ่ายทางอากาศ แผนที่ทางธรณีวิทยา แผนที่ของกรมทหารมาเทียบเคียง อีกทั้งลักษณะเทือกเขาหินปูน ซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำก็อาจมีทางเข้าออกได้หลายทาง จากการประมวลข้อมูลทั้งหมด ถือเป็นข่าวดีในระดับหนึ่ง ที่พบปล่องทางเข้าออกอีกทางหนึ่ง

นายชัยพร กล่าวว่า โดยปกติของถ้ำหินปูน อาจมีหลุมหรือดินถล่มมาบ้าง ซึ่งเกิดโพรงช่องปรากฎขึ้น โดยสังเกตจากน้ำผุด เพราะจะมีโพรงน้ำเยอะ หากฝนตกหนักจะมีไอน้ำสวนขึ้นมาจากโพรงถ้ำ ซึ่งพบ 2 โพรง โพรงแรกเข้าไปได้เพียง 5 เมตรก็ตันแล้ว ส่วนโพรงที่ 2 ถัดจากจุดแรกประมาณ 20 เมตร มีลักษณะแคบสามารถเข้าไปได้เพียงทีละคน หวังว่าโพรงนี้จะสามารถเชื่อมไปถึงบริเวณที่เด็กๆ อยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่หาดพัทยา มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จากปากถ้ำ และเป็นพื้นที่ตลิ่ง เป็นดินเหนียว ซึ่งเป็นบริเวณดินโคลนถล่ม เป็นจุดที่อยู่เหนือน้ำ เพดานถ้ำสูง

“สิ่งที่เป็นกังวลคือ เรื่องอากาศหายใจมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่แคบเพราะจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง อาจทำให้เด็กๆ หายใจลำบาก และภายในถ้ำไม่มีแสงสว่างจะมืดสนิท ส่วนอาหารการกินถือว่ายังโชคดีที่มีน้ำกินแน่ๆ พวกเราหวังว่าเด็กทุกคนจะปลอดภัย” นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการสำรวจทางเข้าออกเพิ่มเติม ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจะนำโดรนติดเครื่องตรวจจับความร้อน ตนแนะนำให้บินสำรวจในช่วงกลางคืน เพราะช่วงกลางวันลักษณะอากาศและน้ำภายในถ้ำจะคงที่ อาจสังเกตจุดความร้อนได้ยาก แต่หากตรวจจับความร้อนในช่วงกลางคืน ซึ่งถ้ำจะเริ่มมีความเย็น หากมีไอน้ำหรือจุดความร้อนโผล่ขึ้นมาจากโพรง เราจะสังเกตได้ง่ายกว่า

ด้านนายสมโภชน์ รัตนมณี โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นหัวเรือใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯได้ระดมเจ้าหน้าที่กว่าร้อยนายเข้าช่วยเหลือและสำรวจพื้นที่ ซึ่งขณะนี้จากการบินสำรวจเราได้พบหลุมยุบหรือโพรงทางเข้าใหม่อีก 2 ช่อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจเพื่อหวังให้โพรงดังกล่าวนี้สามารถเข้าไปถึงตัวเด็กๆ ได้

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการบินสำรวจนั้น อาจมีอุปสรรคในการมองเห็น เพราะมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เราจึงมีการสำรวจภาคพื้นดินเพิ่มเติมอีก เพื่อหวังว่าจะพบทางเข้าออกใหม่อีก เนื่องจากที่ผ่านมานักสำรวจถ้ำแห่งนี้ได้เข้าไปแค่ 6-7 กิโลเมตรเท่านั้น แต่คาดว่ามีความยาวมากกว่านั้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่าถ้ำแห่งนี้มีความยาวเท่าไร่ ปัจจุบันจึงยังไม่มีแผนที่ถ้ำที่สมบูรณ์จริงๆ