กรมอุตุฯเตือน ‘พายุฤดูร้อน’ ถล่มหนักอีก 2 วัน 11-12 พ.ค.นี้ กทม.โดนด้วย

พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดพายุฤดูร้อน-ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯเตือน “พายุฤดูร้อน-ฝนตกหนัก” พัดถล่มอีก 2 วัน ช่วง 11-12 พ.ค.นี้ ระบุชัดพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก กทม. และปริมณฑลโดนด้วย ตกหนัก 70-80%ของพื้นที่ ชี้อากาศยังมีความแปรปรวนสูง เป็นช่วงเตรียมเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ฤดูฝน ลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง ต้องติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ขณะที่ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นหลายจังหวัด รวมภูเก็ต ตรัง พังา กระบี่ นครศรีธรรมราช

กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 11-25 พ.ค.68 init. 2025051012 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย

ช่วงวันหยุด 11 – 12 พ.ค.68 ยังเป็นช่วงที่ประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันนี้ด้านตะวันตกของภาคเหนือภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังเป็นพายุฤดูร้อน (พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บ) ต้องติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เตรียมรับมือ อากาศมีความแปรปรวนสูง จะเป็นช่วงเตรียมเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ฤดูฝน ลมใกล้ผิวพื้นเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น แต่ยังมีบางวันที่ยังมีลมใต้พัดแทรกในช่วงแรกๆ

ประกอบกับช่วงวันที่ 11-12 พ.ค.68 มวลอากาศเย็นยังแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบนของเวียดนาม ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้ทั่วไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักได้หลายพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังและติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน คลื่นลมแรงขึ้น

ช่วงวันที่ 13 – 17 พ.ค.68 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้น่าจะเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยและมีกำลังแรงขึ้น และมีหย่อมความกดอากาศต่ำทางด้านทะเลอันดามัน ทำให้ฝนทั่วไทยยังกระจายต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้

และ ช่วง 18 – 22 พ.ค. 68 มรสุมอ่อนลงบ้าง แต่ยังมีฝนเกิดขึ้นช่วงบ่ายถึงค่ำ ตามมรสุมที่จะพัดปกคลุม และช่วงวันที่ 23 – 25 พ.ค.68 ฝนเพิ่มขึ้นและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพกันอีกครั้ง

ADVERTISMENT

ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายฤดู ฝนอาจเกิดขึ้นได้หลายเวลา ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ปริมาณเฉลี่ยเล็กน้อยถึงปานกลาง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ฝนจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ โดยปกติประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือน พ.ค.

สำหรับฤดูฝนปีนี้รอประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เมื่อพิจารณาเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วน ช่วงที่มีฝนควรสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค ในบางพื้นที่น้ำฝนยังไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม

พื้นที่เสี่ยงภัยโดนพายุฝนฝ้าคะนอง 11-12 พ.ค. 2568
พื้นที่เสี่ยงภัยโดนพายุฝนฝ้าคะนอง 11-12 พ.ค. 2568

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)

ทางด้านนางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 8 (117/2568) มีผลกระทบจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2568

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และมีฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

พยากรณ์ฝนสะสม วันที่ 12 พ.ค. 2568
พยากรณ์ฝนสะสม วันที่ 12 พ.ค. 2568

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 11 พฤษภาคม 2568

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 12 พฤษภาคม 2568

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ช่วงวันที่ 11-15 พ.ค. 2568 นี้จะมีโอกาสเกิดฝนตกหนักมากถึง 70-80% ของพื้นที่เลยทีเดียว

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนและฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง และเส้นทางที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ มีข้อจำกัดในการระบายน้ำ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมขังในระยะสั้นได้ เนื่องจากการระบายน้ำอาจทำได้ไม่สะดวก และไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ฝนตก-น้ำท่วม
ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน

สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ประชาชนในภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนวางแผนการใช้ชีวิตและการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างระมัดระวัง จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศเตือนพายุฤดูร้อน ฉบับที่ 8

ประกาศเตือนพายุฤดูร้อน
ประกาศเตือนพายุฤดูร้อน