
กรมอุตุนิยมวิทยา วันนี้ พยากรณ์ฝนสะสม 15 วันล่วงหน้า ชี้ชัดช่วง 13-17 พ.ค.นี้ และ 18-22 พ.ค.มีฝนกระจายต่อเนื่องทุกวัน เหตุมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยและมีกำลังแรงขึ้น และเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายสู่ฤดูฝน เตือนภาคใต้เสี่ยงท่วมฉับพลัน ขณะที่ภาคกลาง ตะวันออก และกทม. วันนี้มีฝนมากถึง 70-80% ของพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดต ผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 13-27 พ.ค.68 init. 2025051212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย : สำหรับระยะนี้ยังมีฝนออกนอกบ้านต้องพกร่ม ใช้รถใช้ถนนด้วยความระวัง ฝนตกถนนลื่น
ช่วงวันที่ 13 – 17 พ.ค.68 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยและมีกำลังแรงขึ้น และมีหย่อมความกดอากาศต่ำทางด้านทะเลอันดามัน ทำให้ฝนทั่วไทยยังกระจายต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสมโดยเฉพาะทางด้านภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ด้านรับลม) และภาคตะวันออก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้
ส่วนช่วงวันที่ 18 – 22 พ.ค. 68 มรสุมอ่อนลงบ้าง แต่ยังมีฝนเกิดขึ้นช่วงบ่ายถึงค่ำ ตามมรสุมที่จะพัดปกคลุม และ 23 – 27 พ.ค.68 ฝนเพิ่มขึ้นและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพกันอีกครั้ง ระวังฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน
ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายฤดู ฝนอาจเกิดขึ้นได้หลายเวลา ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ปริมาณเฉลี่ยเล็กน้อยถึงปานกลาง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ฝนจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ โดยปกติประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือน พ.ค. สำหรับฤดูฝนปีนี้ รอประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง เมื่อพิจารณาเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วน

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)
ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง
ส่วนในช่วงวันที่ 13 – 18 พ.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเส้นทางที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ มีข้อจำกัดในการระบายน้ำ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมขังในระยะสั้นได้ เนื่องจากการระบายน้ำอาจทำได้ไม่สะดวก รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย
06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ตาก
กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 5-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ
นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี
นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
กรุงเทพและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
สัญญาณการเข้าสู่ ‘ฤดูฝน’
สำหรับการจะเข้าสู่ฤดูฝนในแต่ละปี มีปัจจัย 3 ประการที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้ในการพิจารณา ประกอบด้วย
1.ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้ผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กิโลเมตร เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้าปกคลุมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
2.ลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ
3.มีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
