มองวิสัยทัศน์ 6 แคนดิเดตชิงเก้าอี้ ผอ.Thai PBS พัฒนางานข่าวอย่างไร ?

Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส

ผ่านพ้นไปแล้วกับการแสดงวิสัยทัศน์ของทั้ง 6 ผู้สมัครได้รับคัดเลือกรอบแรกจากคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ตามกระบวนการการสรรหา ผอ.คนใหม่ของ Thai PBS และเป็นครั้งแรกของการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมติดตามการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้ง 6 ท่าน

โดยมีผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ จำนวน 5 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูล, นายรัฐศาสตร์ กรสูต, นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์, นายอรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ส่วนนายนพพร วงศ์อนันต์ ได้ยื่นหนังสือขอถอนตัวจากกระบวนการสรรหาฯ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 โดยนายนพพร ระบุเหตุผลการถอนตัวจากการแสดงวิสัยทัศน์ฯ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เกิดเหตุการณ์ทางธุรกิจที่ต้องแก้ไขที่สหราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

อย่างไรก็ดี นายนพพร ซึ่งถอนตัวในการแสดงวิสัยทัศน์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยวิสัยทัศน์ที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ด้วยเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาการนำเสนอข่าว ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นพันธกิจหลักของ Thai PBS ย้อนไปตั้งแต่การเริ่มต้น “ทีวีเสรี” ของประเทศไทย จนถึงการเริ่มต้น “ทีวีสาธารณะ” โดยน่าสนใจว่า ว่าที่ ผอ.คนใหม่ ทั้ง 5+1 คน มีแนวคิดในการพัฒนาการนำเสนอข่าว ไปจนถึงการผลิตรายการต่าง ๆ อย่างไร ?

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต

เริ่มต้นจาก ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ซึ่งมีประสบการณ์การบริหารองค์กรสื่อเอกชนมาแล้ว โดยมองว่า การนำเสนอข่าว สามารถทำให้แตกต่างได้โดยการมีพื้นที่ให้ทุกมุมความคิดได้สะท้อนความคิด ความเห็นของตัวเอง และต้องมีบทเรียน (Lesson Learned) ให้กับสังคมด้วย รวมถึงการรายงานที่ค่อนข้างรวดเร็ว (Almost Realtime) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในตัวบุคคล เช่น ข้อมูลความต้องการของศูนย์ช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน บางประเด็นที่เป็นเรื่องยาก สามารถนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย เช่น การนำเสนอด้วยภาษาชาวบ้าน ภาษาที่ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจได้ทันที การนำเสนอด้วยอินโฟกราฟิก อธิบายเรื่องต่าง ๆ ด้วยรูปภาพ

“การสื่อสารที่สำคัญ คือ ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ให้ใครก็ได้เข้าใจในสิ่งนั้น” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

มุมของ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นโฆษก สปสช. มาก่อนหน้านี้ มองว่า Thai PBS ควรเปลี่ยนความสนใจจากตัวเลขเรตติ้ง ไปสนใจเรื่องคุณค่าให้กับสังคมและกลุ่มเป้าหมายแทน โดย ทพ.อรรถพร เชื่อว่า การสร้างคุณค่าที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่แล้วค่อย ๆ ขยายไป จะยั่งยืนกว่าตัวเลขเรตติ้งที่ขึ้น ๆ ลง ๆ คนที่ได้รับประโยชน์จะจดจำว่า Thai PBS เป็นผู้ทำ

ส่วนแง่มุมของข่าว ทพ.อรรถพร มองว่า ควรเน้นการใช้ ข้อมูล เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดวาระและสร้างความเข้าใจ ทำงานโดยมองจาก มุมมองของผู้ชม ให้ความสำคัญกับการ สร้างคุณค่า ให้กับสังคมในประเด็นที่สำคัญ มากกว่าการไล่ตามตัวเลขเรตติ้ง พร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ในการผลิตเนื้อหาที่ไม่เสียความเป็นกลาง

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ มองว่า การพัฒนาคอนเทนต์ต่าง ๆ ต้องทำให้สนุกขึ้น น่าสนใจขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะรายการบันเทิง รายการสาระต่าง ๆ จนถึงข่าว ก็สามารถสนุกได้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นวัตกรรมท้องถิ่น และเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับบทบาทในการปกป้องประชาชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทัน

นอกจากนี้ อภิรักษ์ มองว่า Thai PBS สามารถทำหน้าที่เป็น “ครัวกลาง” ในด้านข่าวได้ โดยการแบ่งปันทรัพยากรขององค์กร อย่าง ภาพข่าว (Footages) หรือคอนเทนต์อื่น ๆ ให้กับสำนักข่าวต่าง ๆ หรือสถานีอื่นที่ต้องการได้ พร้อมทั้ง Thai PBS เอง ต้องขยับอันดับเรตติ้งความนิยมของสถานี เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคอนเทนต์ของตนเอง รวมถึงเป็นการพิสูจน์ถึงคุณภาพ ความคุ้มค่าของงบประมาณได้รับต่อปี มากถึงราว 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ อภิรักษ์ ตั้งเป้าเบื้องต้นว่า หากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง มีความพร้อมที่จะขยับเรตติ้งขึ้นภายในเวลา 1 ปี

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล มองว่า Thai PBS ควรสร้างสมดุลในการสนใจประเด็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สังคมสนใจ และกลุ่มที่สังคมควรให้ความสนใจแต่ยังไม่ปรากฏเด่นชัด

ความรวดเร็วฉับไวในการนำเสนอข่าวมีความสำคัญ แต่เนื้อหาจากการสัมภาษณ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรทำ คือ การนำเสนอข้อเท็จจริง ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่าง ๆ และใช้ข้อมูล มุมมองที่หลากหลาย พร้อมทั้งมองว่า Thai PBS ต้องหาจุดแข็งและจุดขายของตนเองให้เจอ เพื่อให้เนื้อหามีความโดดเด่น

นอกจากนี้ รศ.ปัทมาวดี มองว่ายังควรสร้าง Influencer และ Creator รวมถึงสร้างพันธมิตรกับสื่ออื่น ๆ ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ เพราะ Thai PBS ไม่สามารถทำงานเรื่องใหญ่ ๆ ได้เพียงลำพัง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ มีประสบการณ์ทำงานด้านเนื้อหา ทั้งการเป็นบรรณาธิการ ผู้บริหารฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ รวมถึงเป็นรองผู้อำนวยการ Thai PBS มาก่อน

วันชัย มองว่า Thai PBS มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสร้างสรรค์ โดยเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และควรนำเสนอข้อมูลและข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ครอบคลุม รอบด้าน เพื่อให้ผู้รับสารนำไปคิดต่อและตัดสินใจเอง และนำข้อเท็จจริง ออกมาตีแผ่เพื่อให้คนในสังคมรับทราบและคิดเอง โดยต้องไม่ยึดติดว่าความจริงที่นำเสนอวันนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สื่อนำเสนอ อาจช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้

วันชัย มองอีกว่า การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เป็นโอกาสของ Thai PBS เพราะเป็นประเภทข่าวที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมักไม่มีใครทำเนื่องจากอาจกระทบผู้มีอำนาจหรือฝ่ายทุนใหญ่

นอกจากนี้ Thai PBS ไม่ควรละเลยเรื่องการทำเรตติ้ง เพราะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อหาเงินจากการโฆษณา แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าใช้เงินคุ้มค่า และรายการที่ดีมีคุณภาพก็มีคนดู โดยมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนคือ ต้องการให้ Thai PBS ติด 1 ใน 10 ช่องทีวีที่มีคนดูมากที่สุด ภายใน 2 ปี เพื่อเป็นแรงขับให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงและพิสูจน์คุณค่า และการที่อันดับสูงขึ้นจะทำให้องค์กรได้รับการยอมรับและมีศักยภาพในการหารายได้เพิ่ม

นอกจากนี้ วันชัย เชื่อว่าบุคลากรจำนวนหนึ่งมีความเร่าร้อนในการทำงาน แต่ถูกกดไว้ การตั้งเป้าหมายเรตติ้งที่สูงจะช่วยผลักดันให้เกิดการปรับตัวภายใน และมองว่าอาจมีปัญหาเรื่องโครงสร้างองค์กรที่ซ้ำซ้อน มีภารกิจมากเกินไป และขาดการทำงานร่วมกันเป็นทีม ความยุติธรรมภายในองค์กรและการทำงานเป็นทีมคือสิ่งสำคัญที่จะสร้างความคิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนองค์กรได้

ส่วนประเด็นข่าวอื่น ๆ วันชัย มองว่า Thai PBS ต้องกล้าที่จะนำเสนอข่าวในประเด็นที่อ่อนไหว แต่ต้องมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและอธิบายได้ และข่าวเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่า Thai PBS ควรให้ความสำคัญกับข่าวเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลในการนำเสนอเนื้อหา

นพพร วงศ์อนันต์

นพพร วงศ์อนันต์ อดีตบรรณาธิการแผนกภาษาไทยของ BBC (ฺBBC ไทย) เปิดเผยวิสัยทัศน์ของตนเองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุใจความหลักว่า “ในภาวะที่สังคมไทยเผชิญกับความแตกแยกทางความคิด ความท่วมท้นของปฏิบัติการข่าวสารของแต่ละฝ่ายที่มุ่งสร้างกระแสการสนับสนุนฝั่งตัวเองด้วยข่าวปลอม ข่าวลวง และกลลวงของอาชญากรไซเบอร์

ไทยพีบีเอส ต้องเป็นสื่อสาธารณะที่เป็นหัวหอกในการนำเสนอข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณะ เป็นเวทีที่ทุกฝ่ายในสังคมสามารถนำเสนอความเห็นต่อประชาชนได้ในเวลาเดียวกัน แลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ ในกติกาของสังคมประชาธิปไตย”

ในแง่มุมของข่าว นพพร ระบุเป้าหมายว่า ต้องต่อต้านข่าวลวงและสร้างความไว้วางใจให้แก่สาธารณะ ด้วยการเพิ่มความเข้มแข็งของ Thai PBS Verify ซึ่งเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวลวง สร้างการรับรู้ในวงกว้าง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และใช้เทคโนโลยี AI, Big Data วิเคราะห์แนวโน้มข่าวลวงแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ นพพร ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรายงานข่าวภาคพลเมือง ซึ่งเดิม Thai PBS มี “นักข่าวพลเมือง” มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถานี

นพพร มองว่า ต้องส่งเสริมโดยการเปิด Thai PBS Open Newsroom เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมรายงานข่าวหรือนำเสนอเนื้อหาที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว และสนับสนุนโครงการสืบสวนที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบจากฐานราก พร้อมทั้งส่งเสริมเยาวชน สร้างนักคอนเทนต์และนักข่าวรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ “Young Voices Initiative”