บอร์ดสลากฯ ยังไม่เคาะรวมชุดสลากขายเอง สั่งให้ศึกษาข้อดีข้อเสีย ​7​ ประเด็นต่อ

วันที่ 27 มิถุนายน ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตู้ปณ.22 และการลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ เลย และที่สำนักงานฯ สนามบินน้ำ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2561 ระยะเวลา 3 เดือน ในวันนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการสลากฯ ได้รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องการจัดทำสลากแบบรวมชุด เสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเนื้อหาประกอบด้วย สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสลากแบบรวมชุด ผ่านเว็บไซต์สำนักงานฯ จำนวน 5,885 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายสลากรายย่อย และตัวแทนจำหน่ายส่วนกลาง ร้อยละ 47.44 รองลงมาเป็นผู้ลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ร้อยละ 22.72 ที่เหลือเป็นผู้ซื้อสลาก/ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 14.04 มีความเห็นว่าสำนักงานฯ ควรทำสลากรวมชุดเอง ร้อยละ 72.3๔ และเห็นว่าควรทำสลากแบบชุด 5 ใบ ราคาชุดละ 400 บาท ร้อยละ 54.66 รองลงมาร้อยละ 16.56 เห็นว่าสลากแบบชุด 2 ใบ ราคาชุดละ 160 บาท สำหรับจุดจำหน่ายสลากแบบรวมชุดนั้น ร้อยละ 62.20 ต้องการซื้อสลากจากจุดจำหน่ายประจำตรวจสอบได้ ร้อยละ 20.90 ต้องการซื้อจากผู้จำหน่ายเร่ขาย ร้อยละ 16.90 ต้องการซื้อผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต ออนไลน์ และต้องการซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่มีบัตรตัวแทนจำหน่าย ร้อยละ 42.60 ผู้จำหน่ายสลากทั่วไป ร้อยละ 40.90

โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นสลากแบบรวมชุดที่สำนักงานฯ สนามบินน้ำ และในการลงพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ และเลย นั้น มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนทั้งสิ้น 5,224 ราย และมีความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะแตกต่างกันไป ได้แก่ ต้องการให้สำนักงานฯ จัดพิมพ์สลากชุดแบบ 5 ใบ ราคา 400 บาท จะได้ไม่ต้องไปซื้อสลากชุดทำให้มีต้นทุนสูง และเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาได้, สำนักงานฯ ควรพิมพ์สลากเพิ่มและให้ทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ จากเดิมคนละ 5 เล่ม เป็น 10 เล่ม เนื่องจากมีความสามารถในการจำหน่ายและจะได้มีกำไรมากขึ้น, ต้องการซื้อสลากแบบรวมชุดจากผู้จำหน่ายที่มีจุดจำหน่ายประจำ และมีบัตรตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำให้สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงควรมีการกระจายรางวัลเพื่อให้มีการถูกรางวัลมากขึ้น และควรให้ปรับวันจำหน่าย ทั้งระบบตัวแทนและระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ตลอดจนควรให้มีการออกรางวัลที่ 1 หลายๆ ครั้งหรือเท่ากับจำนวนชุดสลาก

นายธนวรรธน์กล่าวว่า โดยที่ยังมีความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ที่แสดงถึงความไม่เห็นด้วยกับการจัดทำสลากรวมชุด เนื่องจากกังวลใจว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่เบ็ดเสร็จ และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงมีมติรับทราบรายงานผลดังกล่าวและให้คณะกรรมการบริหารจัดการสลาก ไปศึกษาเพิ่มเติมโดยมีประเด็นหลัก คือ ควรจะมีการจัดพิมพ์สลากแบบรวมชุดหรือไม่ และผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีการจัดพิมพ์สลากแบบรวมชุด ซึ่งเบื้องต้นคณะกรรมการบริหารจัดการสลาก ได้คิดไว้ 7 แนวทาง ได้แก่ (1) ไม่มีการจัดพิมพ์สลากแบบรวมชุด (2) จัดพิมพ์สลากทั้งหมด (3) จัดพิมพ์ระบบโควตาทั้งหมด (4) จัดพิมพ์ระบบโควตาบางส่วน (5) จัดพิมพ์ระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ทั้งหมด (6) จัดพิมพ์ระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ บางส่วน (7)จัดพิมพ์ระบบโควตาบางส่วนและระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯบางส่วน และเมื่อได้ผลการศึกษาที่ชัดเจน ครอบคลุมรวมทั้งข้อดี ข้อเสีย ตลอดจนข้อห่วงใยครบทุกมิติแล้ว จะนำเสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อไป โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าว