ย้อนอ่าน ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ เขียนถึง ‘ครูบาบุญชุ่ม’ ศูนย์รวมพลังศรัทธาจากล้านนาถึงภูฏาน

**จากบทความ “ตัวใครตัวมันทางศาสนา” ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์มติชน เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 – 30 พฤศจิกายน 2560 ** 

วันหนึ่งทีวีออกข่าวว่าพระภิกษุรูปหนึ่ง ออกจากถ้ำหลังจากเข้าไปทำสมาธิภาวนาอยู่รูปเดียว โดยไม่ติดต่อกับใครนานถึง 3 ปี แน่นอนว่า เมื่อออกจากถ้ำย่อมมีผมยาวคลุมไหล่และหนวดเครารุงรัง ข่าวทีวีฉายให้เห็นลูกศิษย์ลูกหาพากันไปต้อนรับท่านอยู่เนืองแน่น

ระหว่างดูข่าวผมนึกว่า เรื่องพระเข้าถ้ำเพื่อบำเพ็ญเพียรเป็นปีๆ อย่างนี้ ผมเคยได้รู้มาก่อน แต่เป็นใครที่ไหน เมื่อไร ผมจำไม่ได้ โชคดีที่ผมกองหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาไทยปัจจุบันไว้ด้วยกัน เพราะอยากจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ใหม่ จึงทำให้ได้พบเรื่องของ “ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร” ซึ่งเป็นบทความทางมานุษยวิทยา ซึ่งเขียนโดย อาจารย์อัมพร จิรัฏฐิกร แห่งภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และของ อาจารย์ทัตสุกิ กาตาโอกะ ในหนังสือ Charismatic Monks of Lanna Buddhism ซึ่ง Paul T. Cohen เป็นบรรณาธิการ

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างผ่านๆ และคงข้ามสองบทความนั้นไป แต่มีเรื่องของครูบาบุญชุ่มถูกอ้างถึงในบทความอื่น ซึ่งผมไม่ใส่ใจมาก่อน ทำให้ผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับท่านเลยนอกจากเข้าถ้ำ

กลับมาอ่านสองบทความนั้น ร่วมกับค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับท่านจากศิษยานุศิษย์ที่ “พี่กู” บอกให้ จึงพบว่าตัวท่านก็น่าสนใจอย่างมาก บทความของอาจารย์อัมพรก็น่าสนใจอย่างมากเหมือนกัน

ตําแหน่งครูบาไม่ใช่สมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ไทย แต่เป็นสถานะที่ได้รับการยกย่องจากประชาชนตามประเพณีของพุทธศาสนาแบบ “ยวน” หรือแบบชาวเหนือ อันเป็นประเพณีทางศาสนาที่แผ่ไพศาลไปไกล คือทางตะวันตกถึงรัฐชานตะวันออก ทางเหนือไปถึงสิบสองปันนา และทางตะวันออกคงแทรกซึมอยู่ในพุทธศาสนาตามประเพณีลาวด้วย โดยสรุปคือข้ามเส้นเขตแดนของรัฐต่างๆ ในปัจจุบันไปไกลทุกทิศทุกทาง

พระภิกษุที่ได้รับยกย่องเป็นครูบานั้น คือพระภิกษุที่ทรงคุณพิเศษบางอย่าง โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน (ซึ่งทำให้เกิดฤทธิ์บางอย่าง) แต่ประชาชนที่ศรัทธาครูบาบุญชุ่ม โดยเฉพาะชาวเหนือ, ชาวชาน, ชาวเขาบางเผ่า, ไปจนถึงชาวลื้อชาวเขิน ต่างเชื่อว่าท่านเป็น “ตนบุญ” ด้วย อย่างเดียวกับที่เคยศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัยว่าเป็น “ตนบุญ” เช่นกัน

ความหมายของ “ตนบุญ” นั้นย่อให้ถึงแก่นคือพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต กิจกรรมของพระโพธิสัตว์ในเชิงรูปธรรมที่มองเห็นได้ก็คือ การลงมาช่วยให้ชาวบ้านร้านช่องได้ “บุญ” ด้วยการเป็นแกนระดมกำลังในการก่อสร้างหรือบูรณะแหล่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา เช่น พระธาตุ (พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ), วัดเก่าที่ร้างหรือเสื่อมโทรม และอาจมีสาธารณูปโภคที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย

ขอให้สังเกตว่า “ตนบุญ” หรือพระโพธิสัตว์ในประเพณีพุทธศาสนาแบบ “ยวน” แตกต่างจากพระอรหันต์ ซึ่งได้บำเพ็ญเพียรจนตนเองพ้นทุกข์ แต่ไม่ได้เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าถึง “บุญ” ไม่ได้ฟื้นฟูพระศาสนาที่เสื่อมโทรมให้กลับมาดีเหมือนเก่า

คุณวิเศษของครูบาบุญชุ่มก็คือศิษยานุศิษย์ของท่านไม่ได้มีแต่เฉพาะชาวเหนือในประเทศไทยเท่านั้น แต่เพราะท่านเคยไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองพงในพม่า (อยู่เหนือท่าขี้เหล็กขึ้นไป) เป็นเวลาร่วม 20 ปี ทั้งเคยเดินทางไประดมกำลังสร้างหรือบูรณะพระเจดีย์วิหารในรัฐชานอีกหลายรัฐ เลยไปถึงสิบสองปันนาในประเทศจีน จึงเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวไทใหญ่, ชาวเขิน, ชาวลื้อ และชาวเขาบางกลุ่ม เช่น ดาระอั้ง (ปะหล่อง), ลาหู่ และกะเหรี่ยงด้วย ทั้งที่อยู่ในพม่าและที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซ้ำยังเลยไปถึงเนปาลและภูฏาน ท่านก็เคยไปปฏิบัติธรรมที่นั่น จนมีทั้งผู้อุปถัมภ์และศิษยานุศิษย์

ภาพจาก Striker – Blogger

ยิ่งกว่านั้น ใน ค.ศ.2004 ท่านถูกรัฐบาลทหารพม่าขับออกจากประเทศ ท่านจึงกลับมาอยู่ในประเทศไทย บุรณะและสร้างวัดในที่ต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งดอยเวียงแก้ว อำเภอแม่สาย เชียงราย ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ค่อนข้างประจำของท่าน เข้าถ้ำบำเพ็ญเพียรที่ลำปาง 3 ปี 3 เดือน และ 3 วัน จนเป็นที่เลื่องลือ ได้รับความนิยมศรัทธาอย่างกว้างขวางทั้งคนเมือง, คนใหญ่คนโตจากกรุงเทพฯ และคนชั้นกลางในเมืองของไทยอีกมาก

อาจารย์อัมพร ซึ่งทำงานวิจัยภาคสนามกับชาวไทใหญ่ในเขตรัฐชาน และในประเทศไทยมานาน ได้ไปร่วมในวาระงานวันเกิดของท่านซึ่งจัดขึ้นที่เชียงราย และวาระที่ท่านครูบาบุญชุ่มครบกำหนดออกจากถ้ำที่ลำปาง เพื่อเก็บข้อมูลทัศนะความรู้สึกของชาวไทใหญ่ที่สู้เดินทางมากราบไหว้ รวมทั้งทัศนะความรู้สึกของคนชั้นกลางในเมืองของไทย ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของครูบาจากสื่อออนไลน์ พากันเดินทางมาอีกจำนวนมาก

พวกสานุศิษย์ซึ่งเป็นผู้ดีกรุงเทพฯ ออกจะมีอภิสิทธิ์กว่าพวกอื่นหน่อย ตรงที่หลังจากที่ท่านออกมาต้อนรับผู้เข้ามากราบไหว้บนเสลี่ยงด้วยผมยาวและหนวดเครารุงรังแล้ว ท่านก็กลับเข้าถ้ำเพื่อปลงผม พวกผู้ดีชาวกรุงมีสิทธิพิเศษที่ได้ตามเข้าไปในถ้ำได้ ทั้งนี้เพราะพวกผู้ดีอยากจะเก็บผมของท่านไว้เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของตัว และก็สมปรารถนา เพราะไม่มีใครกล่าวถึงผมที่ท่านปลงเลย

ส่วนพวกคนชั้นกลางจากในเมือง มาพร้อมกับเครื่องมือวิเศษคือโทรศัพท์มือถือ เพื่อถ่ายภาพท่านเมื่อออกจากถ้ำ หรือตอนที่ได้เข้านั่งกราบใกล้ชิด หรือแม้แต่ได้รับพรจากท่าน แล้วต่างก็รีบส่งภาพและข้อความลงมือถือเพื่อเอาไปโชว์ในเฟซบุ๊ก หรือยูทูบ ทั้งนี้เพราะคนชั้นกลางไทยเชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่าท่านได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว เนื่องจากตรงกับลัทธิพิธี (cult) พระอรหันต์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนชั้นกลางไทย

ชาวบ้านในภาคเหนือ, ชาวไทใหญ่ และชาวเขา ก็ไม่รู้สึกอะไรที่พวกตนไม่ได้มีโอกาสเหมือนสองพวกข้างต้น ชาวไทใหญ่เข้าร่วม “พิธีกรรม” ทางศาสนามากกว่าเข้ามาหา “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือมาถ่ายรูปร่วมกับพระอรหันต์ พวกเขาตั้งใจมานอนกลางดินกินกลางทราย นำอาหารมาปรุงเพื่ออยู่รอจนกว่าครูบาบุญชุ่มจะกลับเข้าถ้ำอีกครั้ง เพราะท่านมักจำพรรษาด้วยการเข้าบำเพ็ญเพียรในที่วิเวกเช่นถ้ำอยู่องค์เดียวเป็นเวลาตลอดพรรษาทุกปี ชาวไทใหญ่อยู่รอกว่าท่านจะกลับเข้าถ้ำอีกครั้งหนึ่ง จึงกลับบ้าน การมารับท่านออกจากถ้ำและส่งท่านกลับเข้าถ้ำ ด้วยการยอมกินอยู่หลับนอนอย่างยากลำบากเป็นเวลาสามวัน คือการปฏิบัติศาสนาอย่างหนึ่ง

ประเพณีพุทธศาสนาแบบ “ยวน” ส่งเสริมให้ฆราวาสละทิ้งชีวิตปรกติ เพื่อจาริกแสวงบุญและบำเพ็ญภาวนาในระหว่างเดินทางและในศาสนสถานที่มุ่งไปแสวงบุญ (เช่น ถ้ำเชียงดาว) ในฐานะที่ท่านครูบาบุญชุ่มเป็น “ตนบุญ” นี่คือโอกาสที่ได้ร่วมทำบุญกับผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า

ชาวไทใหญ่และชาวเขาบางคน ได้เห็นครูบาบนเสลี่ยงตอนออกจากถ้ำครั้งแรก ถึงกับน้ำตาไหล เพราะเห็นท่านซูบผอมไปมาก พวกเขาอธิบายว่าที่ร้องไห้ก็เพราะได้เห็นว่าท่านยอมรับทุกข์เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากทุกข์หนักที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิต

นี่เป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานะครับ (ซึ่งให้ความเข้าใจปรากฏการณ์อื่นๆ ได้อีก) อันเป็นสิ่งที่ผมเข้าใจว่า ไม่เกิดกับวัตถุ, บุคคล, หรือสถาบันทางศาสนาในหมู่คนชั้นกลางไทยเสียแล้ว แต่ครั้งหนึ่งนับเป็นเนื้อหาสำคัญทางศาสนาของทุกศาสนาในโลก

อาจารย์อัมพรให้ข้อสรุปที่น่าตื่นตะลึงแก่ผมมากว่า “ปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่มเผยให้เห็นว่า ศาสนาในทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในแดน “ศักดิ์สิทธิ์” ตามที่เชื่อกันมาตามประเพณีอีกแล้ว แต่กลายเป็นอะไรที่คล้ายสัญญะที่ลื่นไหล ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสัญญะนั้นจะถูกบริโภค สร้างขึ้นใหม่ และนิยามใหม่โดยสาวกต่างกลุ่ม [ต่างทัศนะ] กัน”

ความเข้าใจเช่นนี้เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้เลยในการทำความเข้าใจการนับถือศาสนาของคนในสังคมสมัยใหม่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีความหมายต่างกันแก่คนที่มีวิถีชีวิตต่างกัน หรืออาจจะพูดได้ว่าต่างชนชั้นต่างมีศาสนาพุทธ (หรือศาสนาอื่นๆ) ของตนเอง ซึ่งอาจมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกัน

ผู้ดีบางกอกและคนชั้นกลางไทย ที่พากันไปนมัสการครูบาบุญชุ่มตอนออกจากถ้ำ ก็กำลังปฏิบัติศาสนาไม่ต่างจากชาวไทใหญ่และคนเมือง เพียงแต่ด้วยวิถีปฏิบัติที่แตกต่างเท่านั้น ทุกฝ่ายต่างได้ประสบการณ์ทางศาสนาโดยตรง ปีติ ปลาบปลื้ม โสมนัสด้วยความศรัทธาเหมือนกันหมด แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน

และผมคิดว่า เราไม่น่าจะมีสิทธิ์ไปประณามหรือปรามาสการปฏิบัติศาสนาของคนในชนชั้นหรือสถานภาพที่แตกต่างจากเรา มีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่า การบูชาพระเกจิเพื่อขอหวย เป็นการปฏิบัติศาสนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนในชนชั้นหนึ่งๆ หรือในสถานภาพหนึ่งๆ

ศาสนาซึ่งหมายถึงหลักความเชื่ออันเดียว, หลักปฏิบัติอันเดียว, อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาแบบเดียว, คัมภีร์เล่มเดียวกัน ฯลฯ เป็นความคิดทางศาสนาที่เพิ่งเกิดมีในโลกไม่เกิน 300 ปีมานี้เอง และกลายเป็นลักษณะสามัญของศาสนาทั้งโลก เมื่อศาสนาถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนรัฐชาติ หรือรัฐสมัยใหม่ที่มีอำนาจรวมศูนย์

แต่บทบาททางการเมืองของศาสนาในโลกปัจจุบันลดน้อยลงในหลายรัฐ แม้แต่ในรัฐที่ยังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางอำนาจของผู้ปกครองอยู่ ก็ไม่สามารถใช้ศาสนาเป็นตัวควบคุมความคิดเห็นของประชากรได้อย่างแต่ก่อน ศาสนาจึงกลับไปเหมือนศาสนาในสมัยโบราณ นั่นคือมีความหมายแก่คนต่างกลุ่มต่างกัน ต่างกลุ่มต่างใช้ประโยชน์จากศาสนาตามความเชื่อที่มีความหมายในวิถีชีวิตของกลุ่มเขา ดังกรณีของครูบาบุญชุ่ม ซึ่งมีสานุศิษย์ต่างชาติพันธุ์, ต่างวัฒนธรรม และเป็นพลเมืองของต่างชาติต่อกันแสดงให้เห็น (ผมยังไม่ได้เล่าถึงความหมายของตนบุญครูบาบุญชุ่มในกลุ่มชาวลาหู่ ตามที่ อาจารย์ทัตสุกิ อากาโตกะ ได้ศึกษาไว้ ซึ่งแตกต่างเป็นคนละเรื่องไปไกลกว่านี้อีกมาก)

สภาพเช่นนี้ไม่เป็นปัญหาทั้งแก่ศาสนิกและสิ่งที่ถือว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในศาสนา แต่เป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แก่องค์กรศาสนาที่ตกค้างมาจากโบราณ และพยายามจะรักษาความหมายเดียวของศาสนาไว้ให้ได้ แม้มีอาญาสิทธิ์จะทำเช่นนั้นได้ แต่ก็ไม่เคยบังเกิดผลอะไรในความเป็นจริงเลย

ไม่แต่เพียงองค์กรคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น ที่สั่งห้ามพระซึ่งสังกัดองค์กรบ้วนน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก, รักษาโรค, ทายหมอดู, เข้าทรง, แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ มาเกิน 100 ปีแล้ว ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จในความเป็นจริงเลย ยังมีองค์กรสงฆ์ และองค์กรศาสนาอื่นๆ ซึ่งออกคำสั่งห้ามโน่นห้ามนี่ แล้วก็ไม่ได้ผลเหมือนกับที่เราเห็นในเมืองไทยอีกมาก

ศาสนาของคนปัจจุบัน อาจไม่ต้องการ “อาญาสิทธิ์” ไม่ว่ามาจากรัฐหรือจากองค์กรศาสนาใดๆ คอยกำกับอีกแล้ว

ภาพจาก ลูกครูบาพ่อบุญชุ่ม ญาณสํวโร

 


ที่มา:มติชนออนไลน์