‘มีชัย’ หนุนตั้งองค์กรกำกับสื่อ ตรวจสอบข่าวทุกรูปแบบ พบผิดให้แถลงฟ้องปชช.

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “กำกับดูแลสื่ออย่างไรให้เป็นที่พึ่งของสังคม” ในโอกาสครบรอบ 21ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตอนหนึ่งว่า เป็นหัวข้อที่น่าแปลกใจ เพราะเท่าที่จำได้สื่อเรียกร้องให้ตนเองเป็นอิสระ ไม่ให้ใครมาควบคุม จนมีการรับรองความเป็นอิสระจากทุกฝ่าย แม้แต่เจ้าของธุรกิจสื่อในรัฐธรรมนูญยังกำหนดห้ามไม่ให้เจ้าของสื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ และยังมีกลไกใหม่ออกมาคือ ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้โซ่จริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดกันเอง แต่พบว่า 1.ไม่ค่อยเข้มงวด 2.ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตาม เพราะองค์กรสื่อจัดตั้งขึ้น โดยอาศัยกฎหมายปกติ กติกาจะใช้ได้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิก แต่ก็มีกรณีที่ออกจากการเป็นสมาชิก ทำให้กติกาไม่ได้ครอบคลุมไปถึงคนเหล่านี้

นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับแนวคิดผู้ตรวจการ (Ombudman)นั้น เป็นระบบการตรวจสอบภาครัฐ ซึ่งเป็นต้นแบบการกำกับดูแลสื่อตั้งแต่เจ้าของสื่อ บรรณาธิการ ผู้สนับสนุนสื่อ และประชาชน ซึ่งแต่ก่อนประชาชนอาจยังไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบ แต่ปัจจุบันประชาชนเป็นสื่อได้เอง สามารถเผยแพร่ถ้อยคำได้ทุกรูปแบบ รู้อะไรก็แชร์ หากใครจับหลักจิตวิทยาได้ก็ยิ่งหยิบเอาข้อมูลดิบใส่คนอื่น ทุกคนที่มีอารมณ์ดิบก็เกิดความสะใจ และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงกลายเป็นว่า สื่อเดินตามสังคมที่สามารถรายงานได้ทันต่อสถานการณ์จนทำให้ประชาชนคนทั่วไปเชื่อถือข้อมูลในสังคมออนไลน์ และทำให้ความสนใจต่อสื่อหลักน้อยลง เพราะสามารถเลือกบริโภคสื่อได้สะดวกมากขึ้น แม้โลกจะเปลี่ยนไป แต่ สังคมออนไลน์ก็มีแง่มุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้เกิดความถูกต้อง

“อย่างการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่มีการเผยแพร่รูปเจ้าหน้าที่ทำถนนเข้าใจว่า ต้อนรับนายกฯ แต่จริงๆเป็นการทำถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้เครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบจึงมีอยู่ทุกขณะในระหว่างที่รายงานข่าว” นายมีชัย กล่าว และว่า ส่วนข้อเสนอแนะในการตรวจสอบกันเองนั้น คิดว่า ท่ามกลางสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรกำกับวิชาชีพสื่อเพื่อตรวจสอบดูแลการนำเสนอทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ และต้องมีอำนาจบางอย่างเพื่อวางจริยธรรมวิชาชีพ แม้จะไม่มีอำนาจลงโทษ แต่เมื่อพบความผิดให้มีอำนาจแถลงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ โดยจะฟ้องหมิ่นประมาทกลับไม่ได้ แล้วก็ไม่ต้องไปลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตวิชาชีพ หรือไปบังคับใครมาอบรมจริยธรรม เพราะนี่ถือเป็นวิธีรักษาความน่าเชื่อถือของสื่อเอง โดยไม่ไปกระทบหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพใคร

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์