ฎีกาชาวบ้าน สู่พระราชกรณียกิจรัชกาลที่ ๑๐

จากเรื่องน้ำ ถึงเรื่องผืนแผ่นดิน และพืชพันธุ์ เพื่อช่วยเหลือปวงพสกนิกรให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการทรงงาน ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในพระเนตรพระกรรณตั้งแต่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จดชายแดนเหนือสุด-ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

แม้โครงการที่เกิดจากฎีกาโดยชาวบ้านที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตั้งแต่เมื่อ 10 เมษายน 2534

ในครั้งนั้น ทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน บ้านไทยประจัน ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และโครงการป่าสิริกิติ์ บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการ และก่อสร้างแหล่งน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคตามที่ นายถวัลย์ ติ่งทอง ราษฎรในพื้นที่ได้ทูลเกล้าฯขอพระราชทานความช่วยเหลือด้านแหล่งน้ำ

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่

1.อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเขื่อนดินสูง 15 เมตร ยาว 380 เมตร พื้นที่รับน้ำฝน 9 ตารางกิโลเมตร ความจุ 585,280 ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2538 ช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภคบริโภค 320 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกได้รับประโยชน์ 1,600 ไร่

2.อ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความจุ 270,750 ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2538 ช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภคบริโภค 130 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกได้รับประโยชน์ 1,300 ไร่

3.อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความสูง 17 เมตร ทำนบดินยาว 180 เมตร หลังคันกว้าง 6 เมตร พื้นที่รับน้ำฝน 7 ตารางกิโลเมตร ความจุ 612,000 ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2540 ช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภคบริโภค 308 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกได้รับประโยชน์ 1,000 ไร่

4.อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำนบดินยาว 170 เมตร หลังคันกว้าง 6 เมตร พื้นที่รับน้ำฝน 27 ตารางกิโลเมตร มีความจุ 60,000 ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2542 ช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภคบริโภค 150 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกได้รับประโยชน์ 750 ไร่

5.อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำนบดินสูง 21 เมตร ยาว 240 เมตร หลังคันกว้าง 6 เมตร พื้นที่รับน้ำฝน 8.25 ตารางกิโลเมตร ความจุ 1,064,000 ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2542 ช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภคบริโภค 200 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกได้รับประโยชน์ 1,700 ไร่

ในปี 2562 กรมชลประทานได้รับสนองพระราชดำริ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านโปร่งพรหม ในพื้นที่ ต.ยางหักอีก 1 อ่าง ซึ่งเป็นอ่างที่มีความจุ 150,000 ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูกจะได้รับประโยชน์จากอ่างนี้ 950 ไร่ ปัจจุบันกำลังศึกษาสำรวจออกแบบโครงการภายใต้พระราโชบายที่ทรง “รักษา สืบสาน ต่อยอด” พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทำให้ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่งมีสภาพสมบูรณ์ สามารถช่วยเหลือราษฎรได้อย่างทั่วถึง เป็นโครงการพระราชดำริที่พลิกฟื้นชีวิตให้กับชาวบ้าน ต.ยางหักทั้งตำบลให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการได้รับพระมหากรุณาธิคุณด้านแหล่งน้ำมากถึง 6 อ่าง เพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีละหมื่นกว่าบาท เป็นปีละหลายแสนบาท สามารถส่งลูกหลานเรียนจบปริญญา ส่วนคนที่เคยอพยพไปหางานทำที่อื่นก็กลับมาทำเกษตรที่บ้าน

นอกจากชาว จ.ราชบุรีที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว น้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันจะไหลลงสู่ห้วยแม่ประจัน ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ส่งผลให้ชาว จ.เพชรบุรี หรือแม้แต่กะเหรี่ยงในพื้นที่แห่งนี้ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน อ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งจะมีกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ช่วยกันดูแลรักษาสภาพพื้นที่อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำร่วมกับโครงการชลประทานราชบุรี และมีการร่วมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงก่อนและหลังฤดูกาลเพาะปลูก

นายถวัลย์ ติ่งทอง ประธานอ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้ทูลเกล้าฯขอพระราชทานความช่วยเหลือ บอกผ่าน มูลนิธิปิดทองหลังพระฯว่า “เมื่อก่อนชาวบ้าน ต.ยางหัก จะออกไปขายแรงงานนอกพื้นที่เพราะที่นี่แล้งมาก แต่พอมีอ่างเก็บน้ำที่พระองค์ท่านทรงเมตตา วันนี้ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ชาวบ้านมีอาชีพ หน้าแล้งก็มีผลผลิต ปลูกผักผลไม้ไปส่งตลาดศรีเมือง”

“เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากพื้นที่ที่น้ำเข้าไม่ถึง ตอนนี้มีระบบท่อส่งน้ำที่กรมชลประทานทำให้ต่อไปถึงที่ดอน เมื่อเรามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็ขยันทำกิน เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี มีเงินส่งลูกเรียนจบปริญญา หลายบ้านมีรถขับ มีตลาดนัดมาเปิดทุกวัน มีแหล่งงานเกิดขึ้นมากมายที่นี่ สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดว่า ชุมชนเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

เช่นเดียวกับ นายสุชาติ กาญจนวิลัย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานราชบุรีที่อธิบายว่า “อ.ปากท่อเป็น 1 ใน 3 อำเภอของ จ.ราชบุรีที่ไม่มีระบบชลประทาน ในอดีตสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

(เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนิน อ.ปากท่อบ่อยครั้ง เมื่อปี 2534 เป็นปีที่ชาวบ้านดีใจมาก

ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 อ่าง เป็นการพลิกชีวิตชาวบ้านที่นี่อย่างมาก จากเมื่อก่อนทำการเกษตรกันช่วงฤดูฝนเท่านั้นเพราะขาดแคลนแหล่งน้ำ แต่หลังจากมีอ่างพระราชทานชาวบ้านที่นี่ก็มีรายได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

จากฎีกาชาวบ้านที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเอาพระทัยใส่ พลิกชีวิตใหม่ให้ราษฎรทั่วทั้งหล้า