“กรีนพีซ” เผย 10 เมืองในไทย พบฝุ่นละอองเกินค่าความปลอดภัย ขอนแก่นสูงสุด

“กรีนพีซ” เผย 10 เมืองในไทย พบฝุ่นละอองเกินค่าความปลอดภัย ขอนแก่นสูงสุด ชี้รัฐบาลจัดการมลพิษทางอากาศล้มเหลว

วันที่ 9 ส.ค. น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่ากรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมวลค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุดใน 14 เมืองทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 พบค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ทั้ง 14 เมืองเกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

“ความเข้มข้นของ PM2.5 ในเขตเมืองเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยนำค่าเฉลี่ยของ PM2.5 มาใช้ในการคำนวณ (PM2.5 AQI)”

น.ส.จริยากล่าวว่ามลพิษทางอากาศเป็นประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมประการหนึ่งที่รัฐบาลไทยยังล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหา โดยที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน การวิเคราะห์ข้อมูลในรายงาน State of Global Air ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 37,500 คน ในปี 58

“กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนดัชนีคุณภาพอากาศที่ผนวกเอา PM2.5 เข้าไปด้วย ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จะต้องเผชิญกับระดับมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าค่าความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ”

น.ส.จริยากล่าวว่าค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ทั้ง 14 เมืองเกินระดับความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกเสนอไว้ว่าไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยให้เห็นว่ามี 10 เมืองจากทั้งหมด 14 เมือง ที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 สูงกว่าระดับความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทย ซึ่งตั้งไว้ว่าไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี

น.ส.จริยากล่าวว่าพบ 2 พื้นที่เมืองที่มีค่าเฉลี่ยของความเข้มข้น PM2.5 สูงสุดคือ จ.ขอนแก่น มี 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จ.สระบุรี มี 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ถึง 4 เท่า

“มีอีก 8 พื้นที่เมืองที่ยังต้องเผชิญกับปัญหา จ.กรุงเทพฯ สมุทรปราการ (พระประแดง) ปราจีนบุรี (ท่าตูม) ราชบุรี (เมือง) สมุทรสาคร (เมือง) ลำปาง (แม่เมาะ) เชียงใหม่ (เมือง) และ จ.ตาก (แม่สอด) มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 ที่อยู่ในระดับที่สูงตั้งแต่ 26 ถึง 39 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”

น.ส.จริยากล่าวว่ามลพิษทางอากาศถูกใช้เป็นตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ความกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศ สะท้อนให้เห็นอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กรีนพีซเห็นว่าแม้ว่าประเทศไทยได้รับรองเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ยังต้องมีความพยายามอีกมาก ในการทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันในประชาคมโลกรวมถึง เป้าหมายข้อที่ 3 ว่าด้วยการ สร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย เป้าหมายข้อที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ความต้านทานและความหยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน

“ประชาชนนับล้านคนจะต้องตกอยู่ในความเสี่ยง หากไม่มีการปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อกอบกู้วิกฤตด้านสุขภาพของคนในประเทศ และดำเนินการตามแผนปฎิบัติการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ ทำให้อากาศสะอาดปลอดภัยและปกป้องชีวิตผู้คน” น.ส.จริยากล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์