“รองอธิบดีอัยการ” แจงคดีบินโดรน เคสถ้ำหลวง ศาลสั่งแล้ว ฟ้องซ้ำไม่ได้ถ้าเหตุวันเดียวกัน

รองอธิบดีอัยการ “ปรเมศวร์ “ชี้ สื่อมวลชนนำโดรน ตามเฮลิคอปเตอร์ หมูป่า ถูกศาลสั่งลงโทษไปเเล้ว “ศรีวราห์” สั่งดำเนินคดี ซ้ำไม่ได้ ถือเป็นกรรมเดียวกัน เว้นเป็นเหตุการณ์คนละวัน

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนสำนักหนึ่งได้นำโดรนขึ้นบินเพื่อบันทึกภาพการลำเลียง ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ออกจากถ้ำหลวง ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่ง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ได้ร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อสื่อมวลชนรายดังกล่าวในฐานความผิด “บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินโดยไม่รับอนุญาต” ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แม่สาย จว.เชียงรายต่อมาผู้ถูกกล่าวหา รับสารภาพ ชั้นสอบสวน พนักสอบสวนส่งสำนวน ต่ออัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย ได้พิพากษาลงโทษปรับ 20,000 บาท ริบของกลาง แต่ผู้ถูกดำเนินคดีรับสารภาพ ศาลจึงได้ลดโทษปรับ 10,000 บาท ริบโดรนของกลาง เเต่ต่อมาพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.มีคำสั่งด่วนที่สุดที่ 0001(มค.)/587 ถึง ผบช.ภ.5 โดยคำสั่งระบุว่า ให้ตรวจสอบและพิจารณาการกระทำของสื่อมวลชนรายดังกล่าวเพิ่มเติม

ว่า คดีความเมื่อมีการฟ้องต่อศาลเรื่องการนำโดรนขึ้นเเละมีคำพิพากษาไปเเล้ว จึงไม่สามารถที่จะเพิ่มข้อหาเเละส่งฟ้องในการกระทำผิดซึ่งเป็นวันเดียวกับเคสที่ศาลมีคำพิพากษาไปเเล้วได้ เช่นการนำโดรนขึ้นในวันที่มีการนำเฮลิคอปเตอร์ส่งน้องๆทีมหมูป่าที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เเม้มีการนำขึ้นลงหลายรอบเมื่อมีความผิดศาลสั่งลงโทษไปก็ถือว่าเป็นกรรมเดียว ตรงนี้ไม่สามารถตั้งข้อหาเพิ่มเเละฟ้องได้ เพราะถือเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เเต่หากมีการกระทำผิดโดยนำโดรนขึ้นในวันอื่นๆเเละเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายตรงนี้ถึงจะสามารถตั้งข้อหาเเละส่งฟ้องได้อีกเพราะถือเป็นการกระทำคนละกรรมกัน ตรงนี้จึงต้องไปดูรายละเอียดในข้อเท็จจริงอีกครั้ง

“ต้องดูเป็นวันๆไป เเม้วันนั้นจะขึ้นลงหลายรอบก็ถือเป็นกรรมเดียวกัน จะมาเพิ่มข้อหาเเล้วฟ้องซ้ำไม่ได้ เเต่ถ้าเป็นคนละวันก็อาจมองได้ว่าขาดกรรมไปเเล้วสามารถดำเนินคดีได้ ตรงดูเป็นกรรมๆไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4) บัญญัติว่าการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง” รองอธิบดีอัยการกล่าว

สำหรับก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดที่ 0001(มค.)/587 ถึง ผบช.ภ.5 โดยคำสั่งระบุว่า ให้ตรวจสอบและพิจารณาการกระทำของสื่อมวลชนรายดังกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
1.เป็นผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินบริเวณที่เกิดเหตุ โดยขัดคำสั่งของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศอร. ตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.2550 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 21(1) และ มาตรา49 หรือไม่

2.เป็นการกระทำด้วยประการใดใดให้อากาศยานอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลตาม ป.อาญา มาตรา 232 หรือไม่
3.ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการได้รับอนุญาตให้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) และนำใบอนุญาตที่ไม่ถูกต้องมาแสดงต่อพนักงานสอบสวน สภ.แม่สาย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.61 ตาม ป.อาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 หรือไม่

หากพบว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฏหมายให้พิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้ใช้วานและผู้สนับสนุนเพิ่มเติมให้ครบถ้วนทุกฐานความผิดแล้วรายงานให้ทราบภายใน 7 วัน

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์