อลังการฟอสซิล 240 ล้านปีที่เพชรบูรณ์ คาดเดิมเป็นก้นมหาสมุทรยุคเพอร์เมียน เร่งต่อจิ๊กซอว์ไขปมสุดทึ่ง

พบแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์อายุ 240 ล้านปีเพิ่มเติม ‘วิศัลย์’ ชี้เคยเป็นทะเลน้ำตื้น เผยมีรายงานพบฟอสซิลบ้านวังปลาในชั้นหินทรายอีกแหล่ง เมื่อต่อจิ๊กซอว์กับแหล่งฟอสซิลภูน้ำหยด ทำให้เห็นสภาพภูมิศาสตร์ในยุคเพอร์เมียนที่เชื่อมสัมพันธ์กัน

วันที่ 15 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอหนองไผ่ ทหารจากกองร้อยรักษาความสงบที่ 2 กองพันทหารม้าที่ 13 กองพลทหารม้าที่ 1 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เดินทางไปตรวจสอบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ซึ่งชาวบ้านแจงว่าพบกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณเนินเขา บริเวณพื้นที่หมู่ 8 บ้านซับชมภู ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบโดยพบว่าแหล่งฟอสซิลแห่งนี้อยู่ระหว่างช่วงหลัก กม.ที่ 7 ของถนนสายบ้านโภชน์-วังปลา ตรงข้ามกับทางเข้าสวนรุกขชาติน้ำตกซับชมภู ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อของ อ.หนองไผ่ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ระยะทางราว 200 เมตร จึงได้พบกับซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่จะเป็นซากหอยชนิดต่างๆ ฝังอยู่ตามแท่งหินและก่อนหินทั้งขนาดเล็กและใหญ่ โดยอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังพบแหล่งฟอสซิลที่บ้านซับเดื่อ หมู่ 6 ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ โดยห่างจากจุดแรกออกไปอีกราว 10 กิโลเมตร โดยซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่พบต่างมีลักษณะใกล้เคียงกันกับในแหล่งแรก โดยเป็นหอยฝังอยู่ตามชั้นหิน และก้อนหินทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน จึงได้ร่วมทำการสำรวจตรวจสอบ ถ่ายภาพพร้อมจัดเก็บข้อมูล เพื่อจะรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการตรวจสอบเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ประกาศตั้งอุทยานธรณีวิทยาหรือจีโอปาร์ค และอยู่ระหว่างการรวบรวมแหล่งธรณีเพื่อนำเสนอต่อยูเนสโก ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมสำรวจธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ได้พบและลงพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลภูน้ำหยดอายุ 240 ล้านปี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นก้นทะเลหรือมหาสมุทรในยุคเพอร์เมียน

ด้านนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ที่พบในพื้นที่อำเภอหนองไผ่แหล่งนี้เป็นฟอสซิลหอยตะเกียงสายพันธุ์ต่างๆ และ Fenestella ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียว พบอยู่ในชั้นหินปูน อันเป็นหลักฐานสำคัญว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นทะเลน้ำตื้นมาก่อน ประมาณช่วงกลางยุคเพอร์เมียน ราว 240-280 ล้านปีมาแล้ว โดยทีมธรณีวิทยาฯเพชรบูรณ์เคยลงพื้นที่แหล่งฟอสซิลใกล้เคียงกันมาก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายงานการพบแหล่งฟอสซิลที่บ้านวังปลา ต.พญาวัง อ.บึงสามพัน อยู่ในชั้นหินทรายซึ่งก็เหมือนชายทะเล โดยหอยตะเกียง หรือ Brachiopods (แบรคิโอพอด) นี้ เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีรูปร่างคล้ายหอย แต่ไม่ใช่หอยเป็นคนละชนิดกัน โดยจะมี 2 ฝาประกบที่ไม่เท่ากัน มีหลายชนิดและหลายขนาดในแต่ละแห่งที่พบ

“เมื่อเชื่อมโยงแหล่งซากดึกดำบรรพ์ทั้ง 3 แหล่งเหมือนการต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน ทำให้พอจะมองเห็นภาพรวมของสภาพภูมิศาสตร์ยุดดีกดำบรรพ์ในแนวพื้นที่นี้เมื่อ 240-280 ล้านปี โดยแหล่งน้ำตกซับชมภูพบหอยตะเกียงอยู่ในหินปูนซึ่งอยู่ในน้ำตื้น ส่วนแหล่งวังปลาพบหอยตะเกียงอยู่ในชั้นหินทรายเหมือนอยู่บริเวณชายทะเล ในขณะที่แหล่งภูน้ำหยดพบฟอสซิลหอยตะเกียงอยู่ในหินปูนเป็นจำนวนมากซึ่งเหมือนก้นทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้น เมื่อต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นภาพเดียวกันแล้วทั้ง 3 แหล่ง ต่างมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตั้งแต่หาดทรายจนไปถึงทะเลลึกหรือก้นทะเล โดยสังเกตได้จากหลักฐานหอยตะเกียงที่อยู่ในชั้นหินที่แตกต่างกัน” นายวิศัลย์กล่าว

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ ทางทีมสำรวจธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ จะลงพื้นที่บ้านวังปลา ต.พญาวัง อ.บึงสามพัน เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์ยุคเพอร์เมียนแหล่งนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยอาจจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมโดยเฉพาะเป็นไปตามข้อสันนิษฐานของทีมธรณีวิทยาเพชรบูรณ์หรือไม่

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์