นักดำน้ำอังกฤษ เผยขั้นตอนช่วย 13 ชีวิต ชี้ประกบรายคน

เจสัน มัลลินสัน หนึ่งในทีมนักดำน้ำอังกฤษเปิดเผยรายละเอียดภารกิจช่วย 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากับสื่ออังกฤษ ว่าตนและทีมนักดำน้ำชาวอังกฤษมีความมุ่งมั่นที่จะนำตัวทั้งหมดออกมาให้ได้ “แต่มีโอกาสสูงมากที่บางคนจะเสียชีวิต”

เว็บไซต์เดลีเมล์รายงานว่า ก่อนที่มัลลินสัน จะเดินทางถึงถ้ำหลวง ทางการไทยวางแผนที่จะปล่อยให้เด็กๆอยู่ในถ้ำจนกว่าน้ำจะลด แต่ด้วยพายุฝนที่จะก่อตัว และระดับออกซิเจน ที่ลดต่ำลงทำให้มีหนทางเดียวคือการนำเด็กดำน้ำออกมาจากถ้ำซึ่งนับเป็น “ภารกิจที่เสียงอันตรายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

เจสัน มัลลินสัน

มัลลินสัน ในวัย 50 ปี และ นักดำถ้ำคู่หู คริส เจเวลล์ วัย 35 ปี สองนักดำน้ำที่ช่วยเด็กรวมกันถึง 7 คนเล่าถึงภารกิจที่มีความเสียงสูงที่เกือบจะกลายเป็นหายนะในช่วงเวลาหนึ่ง แม้จะมีการวางแผนเป็นอย่างดีก็ตาม

ADVERTISMENT

มัลลินสัน คุณพ่อลูก 1 จากเมืองฮัดเดอร์สฟิลด์ เวสต์ยอร์กเชียร์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โรยตัวในโรงงานไฟฟ้าระบุว่า ได้รับข้อความเพื่อเข้าร่วม “ภารกิจกู้ภัยในถ้ำที่ยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา” โดยมัลลินสัน ถูกเรียกตัวไปพร้อมกับเจเวลล์ เพื่อร่วมทีมนักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำอย่าง ริค สแตนตัน รวมถึงจอห์น โวลันเธน สองนักดำน้ำที่พบทีมหมูป่าเป็นทีมแรก ที่ประเทศไทย

มัลลินสัน ระบุว่า ตนและเจเวลล์ ซึ่งเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 6 กรกฎาคม ต้องทำความคุ้นเคยกับช่องทางของถ้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม 6 ช่วงความยาวรวมกว่า 1 กิโลเมตร ที่บางช่วงมีช่องแคบมากสะท้อนความยากลำบากของภารกิจครั้งนี้อย่างชัดเจน

มัลลินสัน และเจเวลล์ ได้รับหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพออกซิเจนในถ้ำในบริเวณโถงที่ 9 หรือบริเวณเนินนมสาวจุดที่ทีมหมูป่าติดอยู่ภายใน ซึ่งหลังจากการตรวจสอบทั้งสองพบว่า อากาศนั้นเบาบางราวกับอยู่ในที่สูง

ADVERTISMENT

“เพียงคุณเคลื่อนไหวร่างกายเช่นการก้าวขึ้นจากน้ำเดินขึ้นเนินชันเท่านั้นก็ทำให้เหนื่อยแล้วเนื่องจากอากาศที่เบาบาง คุณจะหอบและเหงื่อออกง่ายกว่าปกติเหมือนกับอยู่ในพื้นที่สูง” มัลลินสัน ระบุและว่า ตนตัดสินใจให้เด็กๆเขียนจดหมายให้ครอบครัวเพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวที่อยู่ภายนอกมีกำลังใจ

มัลลินสันระบุด้วยว่า แม้ตนจะล้อเล่นกับเด็กๆ ให้มีเสียงหัวเราะได้ แต่จากสภาพภายในถ้ำทำให้ตนคิดว่า “เด็กๆ อาจจะไม่รอดหากถูกปล่อยไว้ในช่วงหน้าฝนหลายเดือน”

ADVERTISMENT
คริส เจเวลล์

อย่างไรก็ตามทางการไทยยังคงยืนยันว่าจะปล่อยให้เด็กอยู่ภายใจจนผ่านพ้นหน้าฝนไป จนกระทั่งการเสียชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทางการไทยได้รู้ว่าทีมดำน้ำจากอังกฤษเป็นความหวังเดียวที่จะนำเด็กออกมาได้ และตัดสินใจเปลี่ยนแผนเพื่อนำเด็กดำน้ำออกมา

นั่นทำให้สมาคมกู้ภัยผู้ติดถ้ำ ต้องขอกำลังสนับสนุนจากองค์กรกู้ภัยในถ้ำของยุโรปเพื่อรวมตัวนักดำน้ำในถ้ำอีกจำนวนมากเพื่อสนับสนุนภารกิจครั้งสำคัญในครั้งนี้

มัลลินสัน และเจเวลล์ ระบุว่า หลังจากตัดสินใจที่จะนำตัวเด็กดำน้ำออกมา ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งในทีม 4 คนที่เตรียมพร้อมให้ 13 หมูป่าพร้อมสำหรับการดำน้ำโดยระบุว่า สมาชิกทีมหมูป่าไม่ได้มีโอกาสได้ทดสอบหน้ากากฟูลมาสก์มากก่อน

“ผมนำเด็กคนแรกออกมาก่อน เราไม่รู้เลยว่าแผนจะสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นเราจึงทำการทดสอบกับเด็กที่สระว่ายน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงก่อน” มัลลินสัน ระบุ

มัลลินสันระบุว่า นักดำน้ำแต่ละคนจะเตรียมพร้อมเด็กให้ใส่ชุดยางสำหรับดำน้ำและตรวจสอบว่าหน้ากากดำน้ำกันน้ำรอบใบหน้าเด็กหรือไม่ ก่อนที่จะนำเด็กลงน้ำในท่าคว่ำหน้าโดยเด็กๆ ได้รับยาที่ทำให้สงบก่อน

“พวกเขากล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ ผมไม่เห็นเลยว่าพวกเขาตกใจกลัวแม้แต่นิดเดียว” มัลลินสัน เล่า

รายงานระบุว่า ในช่วงแรกของการดำน้ำเป็นช่วงที่ยาวที่สุดราว 350 หลาอย่างไรก็ตามช่วงนี้ค่อนข้างกว้างทำให้นักดำน้ำสามารถหิ้วเด็กๆไปโดยใช้เชือกนำทางไปตลอดเส้นทางโดยใช้เวลาราว 20 นาที

“เด็กเข้าใจภาษาอังกฤษได้บางคำ โดยส่วนใหญ่ผมจะพูดว่า โอเค? เพื่อลดความเครียดให้กับเด็ก” มัลลินสันระบุ และว่า “เป็นการดำน้ำแบบนักดำน้ำ 1 คนต่อเด็ก 1 คน โดยสามารถเคลื่อนเด็กได้อย่างอิสระ โดยในบางช่วงจำเป็นต้องส่งเด็กลอดใต้ตัวเราไป”

มัลลินสัน เล่าต่อว่า “เด็กแต่ละคนจะใส่เสื้อชูชีพ ทำให้เราสามารถจับสายที่ด้านหลังของเสื้อได้ และระหว่างเด็กและตัวผมมีเชือกคล้องระหว่างกัน และต้องจับเชือกนำทางเอาไว้ตลอดไม่เช่นนั้นก็อาจจะหลงทางได้”

ด้าน คริส เจเวลล์ เล่าด้วยว่าขณะที่ตนกำลังนำเด็กคนรองสุดท้ายออกจากโถงสี่เพื่อมุ่งหน้าไปยังโถง 3 นั้น เกิดเหตุน่าตกใจขึ้นเมื่อ ตนหลุดมืออกจากเชือกนำทางและต้องใช้เวลาอยู่หลายนาทีในการหาเชือกนำทางในน้ำที่ทัศนวิสัยเป็นศูนย์ ก่อนที่จะสามารถจับสายไฟที่เชื่อมระหว่างโถง 3 และโถง 4 เอาไว้ได้และนำเด็กออกมาได้สำเร็จ

“มันเป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนบางคน ผมต้องระมัดระวังอย่างมากเพื่อไม่ให้หน้ากากหลุดจากหน้าเด็กๆ การรับผิดชอบดังกล่าวนั้นทำให้เครียดอย่างยิ่ง” มัลลินสัน ระบุ และว่าตลอดทางต้องผ่านน้ำที่ขุ่นเหมือนกาแฟ โดยต้องยึดตัวเด็กเอาไว้รวมถึงถังอากาศของตัวเอง

มัลลินสัน และเจเวลล์ ระบุตรงกันว่า ทั้งสองตัดสินใจไม่ใส่ถุงมือยางระหว่างปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เนื่องจากต้องการประสาทสัมผัสที่ชัดเจนเพื่อช่วยเด็กจากการกระแทกกับก้อนหิน ซึ่งนั่นส่งผลให้ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บที่มือและข้อนิ้วอย่างรุนแรง และว่าหากถังอากาศทำงานพลาดหรือเด็กกระแทกกำแพงนั่นอาจทำให้เสียชีวิต ได้ ดังนั้นจึงต้องว่ายน้ำให้เร็วที่สุดเพื่อพาเด็กไปถึงโถงต่อไปให้ได้

มัลลินสันระบุว่า นักดำน้ำใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมงเพื่อนำเด็กแต่ละคนไปถึงมือเจ้าหน้าที่อเมริกันและไทยและนั่นเป็นเส้นทางใต้น้ำที่ยาวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ราว 1 กิโลเมตร ด้วยทัศนวิสัยที่เป็นศูนย์ โดยตลอดระยะทางมัลลินสัน สังเกตการหายใจของเด็กๆผ่าน เสียงฟองอากาศที่ออกมาจากหน้ากาก โดยบางคนมีการหายใจในระยะห่างปกติ แต่บางคนก็มีการหายใจที่มีความลึกและมีระยะห่างมาก

ในวันที่ 3 ที่เหลือเด็ก 4 คนและโค้ชอีก 1 คน มัลลินสัน ตัดสินใจทำงานแข่งกับเวลาโดย ดำน้ำสองเที่ยวเพื่อนำเด็กคนสุดท้ายออกมา และเปิดเผยว่าจริงๆแล้วโค้ชของเด็กทีมหมูป่าอะคาเดมีนั้นออกมาเป็นคนที่ 9 ไม่ใช่คนที่ 13 อย่างที่สื่อเข้าใจก่อนหน้านี้

มัลลินสัน ระบุว่า ทัศนวิสัยขณะนำเด็กคนสุดท้ายออกมานั้นแย่มาก จนไม่สามารถมองเห็นมือตัวเองได้เลยทีเดียว ทำให้ต้องนำใบหน้าของเด็กมาใกล้ตัวให้มากที่สุดในกรณีที่เกิดกระแทกกำแพงหิน ตนจะยอมถูกกระแทกก่อนเด็ก และว่าเด็กๆสามารถจมน้ำได้ทุกเมื่อหากซีลที่หน้ากากเกิดรั่วขึ้นมา

ทั้งมัลลินสัน และเจเวลล์ ระบุว่า พวกเขาทั้งคู่พยายามไม่ให้ตกต้องตกอยู่ในห้วงของอารมณ์มากนักและพยายามคงไว้ซึ่งความสุขุมเยือกเย็น อย่างไรก็ตามมัลลินสัน ยอมรับว่าในการดำน้ำช่วงสุดท้าย ตนรู้สึกจุกขึ้นมาในอกด้วยความตื้นตันและคิดว่าตนสามารถทำภารกิจที่ยากลำบากนี้ได้สำเร็จ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์