พบ “6 ฉลามหูดำ” หากินใกล้ชายหาดอ่าวมาหยา บ่งบอกความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน บินสำรวจบริเวณอ่าวมาหยา ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ หลังจากการปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา พบฝูงลูกปลาฉลามหูดำประมาณ 6 ตัว ว่ายหาอาหารอยู่ใกล้ชายหาดอ่าวมาหยา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า ระบบนิเวศใต้ทะเลเริ่มฟื้นตัว มีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำขนาดเล็กมาอาศัย ทำให้ปลาฉลามหูดำเข้ามาหาอาหาร

นางศุภพร เปรมปรีดิ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า แต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ได้ลงดำน้ำสำรวจพบว่ามีปะการังเสียหายจำนวนมาก เป็นวงกว้างเนื้อที่กว่า 29 ไร่ หรือเกือบทั้งหมดของอ่าวมาหยา ขณะนี้ได้ทำการปลูกปะการังด้วยวิธี Coral Propagation โดยการนำกิ่งปะการังมาปลูกติดกับก้อนหินแล้วนำไปวางใต้ทะเลบริเวณอ่าวหยาแล้วกว่า 400 กิ่ง ซึ่งการปลูกปะการังด้วยวิธีการนี้จะสามารถฟื้นฟูปะการังให้กลับมาสวยงามเติบโตได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู ซึ่งจะต้องไม่ถูกรบกวนด้วย

ระหว่างการประกาศปิดอ่าวมาหยา นักวิชาการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการพังทลายของเนินทรายหน้าชายหาด โดยการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายหาด โดยคัดเลือกชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น รักทะเล เตยทะเล สวาด คันทรง เพื่อช่วยยึดหน้าดิน และมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมพืช และปลูกปะการังใต้ทะเล ทำการสร้างโป๊ะหรือท่าเทียบเรือด้านหน้าอ่าวโล๊ะซามะ เพื่อเป็นช่องทางที่เปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวเกาะมาหยา ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งท่าเทียบเรือนี้จะมีการติดตั้งจัดตรวจรับอี-ทิกเก็ต จะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนกันยายน 2561 ก่อนเปิดรับฤดูการท่องเที่ยว

สำหรับปลาฉลามครีบดำ หรือปลาฉลามหูดำ เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเพรียวยาว ปากกว้าง มีแถบดำที่ครีบหลัง ครีบไขมัน ครีบก้น และครีบหางตอนล่าง กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง นับเป็นปลาฉลามชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในทะเล นิสัยเชื่องคน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์